SHARE

Content Strategy เครื่องมือที่ช่วยให้คอนเทนต์ของคุณได้ผลและตรงจุด

คอนเทนต์นั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจที่ใช้วิธีการแบบ Inbound Marketing เพราะคอนเทนต์คือเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับลูกค้าเป้าหมาย ว่าธุรกิจของคุณจะเสนอวิธีการที่จะช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเจอได้อย่างไร และคอนเทนต์จากธุรกิจของคุณคือตัวช่วยตอบคำถามให้กับลูกค้าเป้าหมายว่าทำไมพวกเขาถึงจำเป็นต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากคุณ?

ความสำคัญของคอนเทนต์จึงทำให้คุณจำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาด้วยความพิถีพิถัน เพื่อที่คอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นสามารถสะท้อนให้ลูกค้าเป้าหมายเห็นถึงคุณค่าและพันธกิจของธุรกิจของคุณ และสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสร้างคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมคือการมีแผนการสร้างคอนเทนต์หรือ Content Strategy 

Content Strategy มีประโยชน์อย่างไร

เหตุผลที่เราอยากให้ธุรกิจของคุณมี Content Strategy เป็นของตัวคุณเองเพราะ Content Strategy ให้ประโยชน์สองอย่าง คือ

ทำให้คุณผลิตคอนเทนต์ที่ดี

สำหรับนิยามว่าด้วย ‘คอนเทนต์ที่ดี’ ของเราชาว Magnetolabs นั้นประกอบไปด้วยสามอย่าง คือ

ตรงเป้าหมาย ถูกที่ และถูกเวลา

ตรงเป้าหมาย หมายถึง ตรงกับความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย

ถูกที่ หมายถึง เผยแพร่ในแพลตฟอร์มที่ลูกค้าเป้าหมายสามารถเห็นได้ชัดเจน

ถูกเวลา หมายถึง เผยแพร่ในเวลาที่ลูกค้าเป้าหมายต้องการ

Content Strategy จะทำให้คุณผลิต ‘คอนเทนต์ที่ดี’ อันหมายถึงคอนเทนท์ที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าเป้าหมายได้ เพราะ Content Strategy คือแนวทางที่แนะนำคุณว่าลูกค้าเป้าหมายของคุณต้องการคอนเทนต์แบบไหน จะเห็นคอนเทนท์ผ่านทางช่องทางใด และจะเห็นคอนเทนต์ในช่วงเวลาใด ซึ่งจะทำให้คุณผลิตคอนเทนต์ได้ตรงกับที่ลูกค้าเป้าหมายต้องการมากขึ้น

ทำให้คุณผลิตคอนเทนต์ได้อย่างสม่ำเสมอ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเท่าๆ กับการสร้างคอนเทนต์ที่ดี คือการสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์ออกมาอย่างสม่ำเสมอ เพราะการที่คอนเทนต์ถูกเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกค้าเป้าหมายไม่ลืมธุรกิจของคุณไปการทำคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอนั้นช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณ และยังเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าเป้าหมายของคุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

Content Strategy จะทำให้คุณสามารถผลิตคอนเทนต์ในระยะยาวได้ เพราะ Content Strategy จะช่วยจัดระเบียบคอนเทนต์ที่คุณมี โดยเรียงตามลำดับความสำคัญของคอนเทนต์และเป้าหมายที่ธุรกิจของคุณต้องการ อีกทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการสร้างคอนเทนต์ ให้คุณสามารถสับเปลี่ยนคอนเทนต์ได้ตามสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คุณสามารถผลิตคอนเทนต์ได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อธุรกิจของคุณมีคอนเทนต์ที่ดีออกมาอย่างสม่ำเสมอ เท่ากับว่าคุณมีเครื่องมือที่จะใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าเป้าหมายของคุณว่าธุรกิจของคุณสามารถมอบประโยขน์ให้กับพวกเขาอย่างไรได้อย่างต่อเนื่อง

สร้าง Content Strategy ด้วย Content Strategy Canvas

หากคุณอยากจะสร้าง Content Strategy เป็นของคุณเอง แต่ยังไม่รู้ว่าเริ่มต้นอย่างไร เราขอแนะนำเครื่องมือที่เรียกว่า Content Strategy Canvas 

Content Strategy Canvas
[ตัวอย่างของ Content Strategy Canvas ของ ​EmpiricalProof ซึ่งดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ]

 

Content Strategy Canvas เปรียบเสมือนชุดคำถามที่จะชี้ให้คุณเห็นว่าคุณจะสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร ซึ่งคำถามประกอบไปด้วย

Audience – กลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร ?

คำถามแรกที่คุณจำเป็นต้องถามเมื่อจะสร้างคอนเทนต์คือกลุ่มเป้าหมายของคอนเทนต์คือใคร ซึ่งในที่นี้หมายถึงคือลูกค้าเป้าหมาย (​Leads) และลูกค้า (Customer) ของธุรกิจคุณ 

เมื่อคุณได้กลุ่มเป้าหมายของคอนเทนต์ คำถามต่อไปที่คุณต้องถามต่อคือทำไมคุณต้องทำคอนเทนท์ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้? อะไรที่จะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ชอบคอนเทนท์ของคุณ? และลูกค้ากลุ่มนี้จะเห็นคอนเทนท์ของคุณได้อย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คุณตอบคำถามได้ง่ายขึ้นคือสิ่งที่เรียกว่า Customer Persona และ Customer Journey  ซึ่งคุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ ธุรกิจการเงินสร้างคอนเทนต์ดึงดูดลูกค้าอย่างไรใน Buyer’s Journey แต่ละขั้น

Audit – คุณมีคอนเทนต์อะไรในมือแล้วบ้าง?

ขั้นตอนต่อไปคือการกลับมามองที่ตัวคุณเองว่าตอนนี้คุณมีคอนเทนต์อะไรในมืออยู่บ้าง เพราะคุณอาจไม่รู้ตัวว่าคุณมีคอนเทนต์อยู่ในมือแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันแต่อย่างใด โดยคอนเทนต์เหล่านี้อาจซุกซ่อนอยู่ในบริเวณที่คุณคาดไม่ถึงอย่างเอกสารประกอบการขายหรือคู่มือใช้งานผลิตภัณฑ์

เมื่อคุณสำรวจคอนเทนต์ที่คุณมีอยู่ในมือ คุณก็จะพอรู้คร่าวๆ ว่าคอนเทนต์ในรูปแบบใดที่คุณยังไม่มี และคุณจำเป็นต้องผลิตมันขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

การสำรวจอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำคือการสำรวจคอนเทนต์ของคู่แข่ง ว่าอะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของคอนเทนต์ที่ถูกผลิตขึ้นโดยคู่แข่งของคุณ เพื่อที่จะหาวิธีการที่จะทำให้คอนเทนต์ของคุณ ‘ดีกว่า’ คอนเทนต์ของคู่แข่ง

Branding – แบรนด์ของคุณมีลักษณะเป็นอย่างไร​?

ลักษณะของแบรนด์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างคอนเทนต์เป็นอย่างมาก เพราะแบรนด์เปรียบเสมือนสิ่งที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายคาดหวังว่าพวกเขาจะได้อะไรจากคอนเทนต์ของคุณ การที่คอนเทนต์ไปคนละทิศละทางกับแบรนด์ของคุณอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้มากกว่าที่คาดคิด

ลักษณะของแบรนด์คือขอบเขตที่กำหนดว่าคุณสามารถสร้างคอนเทนต์ได้ในรูปแบบใดบ้าง คอนเทนต์แบบใดที่ไม่สามารถทำได้ และลักษณะของแบรนด์จะเป็นตัวที่กำหนดว่าคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมาจะมี Mood and Tone หรือลักษณะในการสื่อสารออกมาเป็นอย่างไร

Production – คุณจะผลิตคอนเทนต์ได้อย่างไร?

คำถามสามข้อก่อนหน้านี้จะทำให้คุณได้ลักษณะของคอนเทนต์ที่จำเป็นต้องสร้างออกมาโดยคร่าวๆ และ เพื่อที่จะทำให้คอนเทนต์ของคุณออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ขั้นตอนต่อไปที่คุณจำเป็นต้องทำคือการวางแผนในการทำคอนเทนต์

ขั้นตอนนี้เริ่มต้นจากการถามว่า คนทำคอนเทนต์มีใครบ้าง? และพวกเขาแต่ละคนมีหน้าที่อะไร? เพื่อที่จะจัดสรรความรับผิดชอบไปให้กับทีมงานของคุณ และทำให้ทีมของคุณสามารถเริ่มงานได้ทันที

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือทรัพยากรที่เข้าไปช่วยในการสร้างคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็น Metadata, Style Guide หรือ Publishing Checklist ที่นอกจากจะทำให้ทีมงานของคุณทำงานได้ง่ายขึ้นแล้ว ทรัพยากรเหล่านี้จะช่วยควบคุมในคอนเทนต์ของคุณเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตได้อีกด้วย

Formats –  คอนเทนต์ของคุณมีลักษณะอย่างใด?

คำถามที่คุณจำเป็นต้องตอบอีกข้อหนึ่งคือคอนเทนต์ที่คุณสร้างมาจะถูกปล่อยไปในรูปแบบใด ไม่ว่าจะเป็นบทความในบล็อก อีบุ๊ค อินโฟกราฟฟิก พอดแคสต์ หรือคลิปวิดีโอ ซึ่งหน้าที่ของคุณคือการจับคู่คอนเทนต์เข้ากับวิธีการเผยแพร่แต่ละแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและสารที่ต้องการจะสื่อ

หากคุณจับคู่ได้อย่างถูกต้อง นอกจากที่คุณจะสร้างคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้นแล้ว ผู้รับคอนเทนต์ก็จะได้รับสารตรงตามความตั้งใจที่คุณอยากให้พวกเขารับรู้ได้อีกด้วย

Workflow – กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร?

สิ่งที่สำคัญในที่นี้ประกอบไปด้วยสองส่วน คือส่วนของเครื่องมือที่จะทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของกระบวนการทั้งหมด อย่างเช่น Content Calendar ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นว่าในแต่ละเดือนคุณต้องทำคอนเทนต์เรื่องอะไร เผยแพร่ในช่องทางใด และต้องทำจำนวนเท่าใด

อีกสิ่งหนึ่งคือส่วนของกระบวนการจัดการคอนเทนต์ว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ที่มีอยู่และคอนเทนต์ที่ถูกเผยแผร่ไปแล้วอย่างไร โดยเฉพาะ Evergreen Content ที่เป็นคอนเทนต์ที่ดูเหมือนสดใหม่ และน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการอัพเดทให้ทันสมัยอยู่เสมอ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Evergreen Content ได้ที่บทความ Evergreen Content v.s. Topical Content คอนเทนต์แบบไหนน่าทำกว่ากัน?

Distribution – คุณจะปล่อยคอนเทนต์ในช่องทางไหน?

เรื่องช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้คุณจะพยายามสร้างคอนเทนต์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าหากคุณปล่อยคอนเทนต์ในช่องทางที่ลูกค้าเป้าหมายมองไม่เห็นก็เท่ากับว่าคอนเทนต์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวมันเองได้แต่อย่างใด

คำถามต่อไปคือคุณจะเผยแพร่คอนเทนต์ในช่องทางใด? ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ บล็อก อีเมล หรือ โซเชียลมีเดีย ซึ่งคุณควรที่จะเลือกช่องทางที่ได้ผลที่สุดในการเผยแพร่คอนเทนต์

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการโปรโมทคอนเทนต์ ซึ่งมีทั้งการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ (Organic) คือการซื้อสื่อเพื่อโปรโมท (Paid Promotion) ที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้ที่มีต่อคอนเทนต์ของคุณ

​Stakeholders – ใครที่มีส่วนร่วมกับคอนเทนต์บ้าง?

ไม่ใช่แค่ทีมสร้างคอนเทนต์ที่จะมีส่วนรวมในกระบวนการผลิตคอนเทนต์ แต่รวมไปถึงทุกคนที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจไม่ว่าจะเป็นผู้ตัดสินใจ ผู้อนุมัติโครงการ หรือผู้ที่นำคอนเทนต์ไปใช้งาน

สิ่งที่คุณควรรู้คือผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้คาดหวังอะไรจากคอนเทนต์ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้น และทำอย่างไรถึงจะตอบสนองต่อความคาดหวังที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

​Goals – เป้าหมายที่คุณต้องการจากคอนเทนต์คืออะไร?

คำถามสุดท้ายที่คุณจำเป็นต้องถามคือ ‘เป้าหมายที่ต้องการจากคอนเทนต์คืออะไร?’ ซึ่งจะช่วยบอกคุณว่ากระบวนการสร้างคอนเทนต์ที่คุณกำลังเดินมานั้นถูกทางหรือไม่ และยังบอกด้วยว่าคุณจะวัดผลที่เกิดขึ้นจากการสร้างคอนเทนต์ได้อย่างไร 

โดยเป้าหมายที่ตั้งขึ้นมาควรอิงตามหลัก SMART Goals ซึ่งประกอบไปด้วย

Specific หรือ เจาะจง

Measurable หรือ ประเมินผลได้

Attainable หรือ ทำให้สำเร็จได้

Relevant หรือ ตรงประเด็น

Timely หรือ  ทันเวลา

ตัวอย่างของ ​SMART Goals เช่น

  • มีผู้เข้าชมเว็บไซต์มากกว่า 100,000 คน ภายในสิ้นปี
  • การเพิ่มจำนวนผู้ติดตามเว็บไซต์จาก 1,000 คน เป็น 2,000 คนภายในหกเดือน
  • โพสต์ Facebook ที่ได้ 1,000 Share ภายในสามเดือน

เมื่อคุณสามารถตอบคำถามได้ครบทั้งเก้าข้อ คุณก็จะเริ่มมีภาพโครงร่างในหัวแล้วว่าคุณต้องการอะไรจากคอนเทนต์และทำอย่างไรที่คุณถึงจะสร้างคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการออกมาได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งโครงร่างดังกล่าวก็คือ Content Strategy แบบคร่าวๆ ที่ได้จาก Content Strategy Canvas นั่นเอง

ถึงเวลาสร้าง Content Strategy ของคุณเอง

เพราะคอนเทนต์คือเครื่องมือหลักในการดึงดูดและสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเป้าหมาย รวมไปถึงการสร้างความพึงพอใจของคุณ Content Strategy จึงสำคัญในฐานะเครื่องมือที่ช่วยทำให้คอนเทนต์ของคุณสื่อสารตรงไปยังเป้าหมาย กับทำให้ธุรกิจของคุณได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไป และด้วย Content Strategy Canvas ที่เป็นแนวทางให้คุณประกอบ Content Strategy ได้ด้วยตัวคุณเอง

หากธุรกิจของคุณมีแผนที่จะสร้างคอนเทนต์ แต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ที่เรา Magnetolabs มีบริการด้าน Content Marketing ตั้งแต่การวางแผนคอนเทนต์ การสร้างคอนเทนต์ ไปจนถึงการวิเคราะห์ผลลัพธ์และปรับปรุงคอนเทนต์ของคุณ และทำให้คอนเทนต์ของคุณสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างที่ต้องการ 
Magnetolabs-Inbound-Service

Author

Paworn

Digital Content Writer ที่สนุกกับโลกของ Digital Marketing และใช้การอ่านกับการเขียนเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาตัวเองในทุกๆ วัน
Digital Content Writer ที่สนุกกับโลกของ Digital Marketing และใช้การอ่านกับการเขียนเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาตัวเองในทุกๆ วัน

Related Blog

Leave Your Comment