เมื่อต้นฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา ทางผู้เขียนซึ่งปกติมักจะนั่งทำงานออกแบบอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ได้มีโอกาสไปเดินลัดเลาะเป็นนักท่องเที่ยว กิน เที่ยว ช็อป ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ไม่สามารถสลัดสัญชาตญาณในฐานะนักออกแบบทิ้งไปได้ จึงแอบคอยสังเกตงานออกแบบระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการโดยสารรถไฟ และขอทดลองจริงเลยว่าการออกแบบของเขาใช้ได้กับเราหรือไม่ เพราะไหนๆ ก็มาถึงเมืองอาทิตย์อุทัย ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการใช้ชีวิต และกำหนดพฤติกรรมผู้คนให้มีระเบียบได้จากการออกแบบที่ดีแล้ว
เราพบว่าการออกแบบภายในสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้นช่วยให้แม้แต่คนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย สามารถเข้าใจและเดินทางได้คล่องตัว ด้วยกราฟฟิกต่างๆ บนป้ายบอกทางและป้ายสัญลักษณ์ที่ออกแบบมาโดยคิดถึงผู้ใช้เป็นหลัก
ทางผู้เขียนจึงได้รวบรวมประสบการณ์ที่ได้ประสบเองกับตัวมาวิเคราะห์ต่อว่า งานออกแบบในสถานีรถไฟ มีองค์ประกอบอะไรที่ช่วยสร้างพฤติกรรมของผู้ใช้บ้าง และเราจะสามารถนำบทเรียนนี้ มาใช้กับงานออกแบบของเราได้ยังไงบ้าง
สร้างพฤติกรรมผู้ใช้ ด้วย 3 องค์ประกอบในงานออกแบบ
1. การเลือกใช้สี (Color)
คุณคงเคยได้ยินทฤษฎีจิตวิทยาที่บอกว่าสีนั้นส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึกของมนุษย์ การใช้สีที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ จะช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจได้ว่าควรต้องทำอะไร เช่น สีแดงสดเป็นสีที่ทำให้รู้สึกร้อนแรง ตื่นเต้น ไปจนถึงดูอันตราย ไฟจราจรที่ต้องการให้ผู้ใช้ถนนหยุดรวมถึงป้ายห้ามต่างๆ จึงมักจะใช้สีแดง นอกจากนี้การใช้สียังช่วยกำหนดความสนใจ และแยกแยะประเภทได้อีกด้วย
ทุกคนที่เดินทางมาสนามบินนานาชาติคันไซและต้องการไปโอซาก้า ย่อมต้องเคยไปสถานีนัมบะ นันไค (Namba Nankai) สถานีที่มีจำนวนชานชาลาเยอะ และเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและขนส่งที่พลุกพล่านตลอดทั้งวัน ที่นี่เราจะพบกับป้ายบอกทางขนาดใหญ่ที่ออกแบบให้อยู่บนพื้นทางเดิน โดยแยกสายรถแต่ละสายออกจากกันด้วยสีที่แตกต่างกัน พร้อมด้วยหมายเลขชานชาลาที่จะต้องเดินไป เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป แม้จะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ก็เดินทางได้สบาย ไม่หลงแน่นอน
เราสามารถนำเรื่องการใช้สีมาใช้ในการทำงานออกแบบบนเว็บไซต์ หรือในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างความแตกต่างและช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้นได้เช่นกัน
การใช้สีเฉพาะจุดที่ต้องการให้ผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์ด้วย และใช้สีเทากับส่วนอื่นๆ ที่ต้องการให้สนใจน้อยกว่า
การใช้แถบสีเทากับอีเมลที่อ่านไปแล้ว เพื่อให้อีเมลที่ยังไม่ได้เปิดอ่านเป็นจุดสนใจมากกว่า
หน้าตาของกล่องอีเมล ที่ใช้สีฟ้าเน้นให้เห็นปุ่ม Send ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่สำคัญที่สุดของหน้าต่างชัดเจน
การใช้สีที่หลากหลายเกินไป และวางกระจายแบบไม่มีทิศทาง จะทำให้น้ำหนักขององค์ประกอบทั้งหมดในภาพแย่งความสนใจกันเอง จนผู้ใช้ไม่สามารถโฟกัสเนื้อหาหรือเรื่องที่ผู้ออกแบบอยากจะให้ทำได้ (แต่ถ้าเป้าหมายของเขาคืออยากให้เราสับสนงุนงงหาทางออกไม่เจอ ก็ถือว่าผู้ออกแบบทำสำเร็จแล้ว…)
ซึ่งนอกเหนือจากการใช้สีหลากหลายเกินไปแล้ว การเลือกจับคู่เฉดสีให้งานออกแบบออกมาสวยงามลงตัวก็เป็นอีกปัญหาใหญ่เหมือนกันค่ะ สำหรับใครที่มองหาตัวช่วยในการเลือกคู่สีอยู่ ก็สามารถลองดูจากเว็บไซต์ที่จัดชุดสีไว้ให้แล้ว ซึ่งมีอยู่มากมายให้ลองไปศึกษาหรือเลือกมาใช้กันได้ไม่ยาก
2. การเลือกใช้สัญลักษณ์ (Symbol)
สัญลักษณ์ คือเครื่องหมายที่แสดงถึงบางสิ่งบางอย่าง เป็นตัวช่วยย่นระยะเวลาในการทำความเข้าใจสารที่ผู้ออกแบบจะสื่อให้เข้าใจเร็วขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดอย่างเรื่องของภาษา คนทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ภาษาหรือวัฒนธรรมแบบเดียวกันก็สามารถเข้าใจสัญลักษณ์นี้ได้อย่างเป็นสากล
ที่ญี่ปุ่น รถไฟหลายประเภทจะใช้รางรถไฟร่วมกัน โดยแต่ละขบวนจะมีตำแหน่งประตูที่แตกต่างกัน บนพื้นชานชาลาจึงมีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม พร้อมด้วยหมายเลขขบวนรถที่จะเทียบจอด ซึ่งสัญลักษณ์และตัวเลขนี้จะแสดงอยู่บนบอร์ดตารางเวลาขนาดใหญ่ และอยู่บนพื้นบริเวณที่ประตูรถแต่ละขบวนจะเปิดออก เช่น O5~8 หมายถึงให้ไปยืนรอที่สัญลักษณ์ O ที่มีหมายเลขขบวนที่ 5-8 กำกับ
เรามาลองดูตัวอย่างในงานออกแบบบนเว็บไซต์กันบ้างว่า ถ้าลองใช้สัญลักษณ์แทนหรือช่วยสื่อความหมายแล้ว จะมีความแตกต่างต่อการรับรู้และเลือกทำสิ่งต่างๆ ของผู้ใช้ยังไงบ้าง
การใช้แต่ข้อความเพื่อสื่อสารเนื้อหาที่ผู้ออกแบบอยากให้ผู้ใช้รับรู้ โดยไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ช่วยสื่อความหมาย หรือย่นระยะเวลาในการทำความเข้าใจสารเลย ทำให้ผู้ใช้ใช้เวลานานในการตัดสินใจ หรืออาจจะล้มเลิกความตั้งใจและออกจากเว็บไซต์ไปก่อนจะเกิดสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องการ เช่น การคลิกดูข้อมูลและสั่งซื้อสินค้า
การใช้ข้อความน้อยลงแล้วเปลี่ยนมาใช้สัญลักษญ์ต่างๆ เพื่อช่วยสื่อความหมายของข้อความ จะทำให้ผู้ใช้มีความเชื่อมโยงรูปภาพกับความหมายก่อนจะต้องอ่านข้อความเสียอีก
3. การเลือกตำแหน่งและจัดองค์ประกอบ (Composition)
นอกจากการใช้สีและสัญลักษณ์เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้รับสารอย่างรวดเร็วแล้ว การจัดองค์ประกอบและตำแหน่งที่เรานำงานออกแบบไปวาง ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ใช้งานเช่นกัน
บนพื้นบันไดภายในสถานี โดยเฉพาะที่บันไดพาลงสู่ชานชาลา มักจะมีสติกเกอร์แบ่งช่องทางเดินสีแตกต่างกันพร้อมด้วยลูกศรขนาดใหญ่สะดุดตาแปะอยู่บนขั้นบันไดซึ่งทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินอยู่บนบันไดหรือทางเดินที่เป็นพื้นราบ ทำให้ทุกคนสามารถเดินไปยังจุดหมายของตัวเองได้อย่างคล่องตัวแม้ในช่วงเวลาเร่งด่วน
นอกจากนี้ ในสถานียังเลือกวางป้ายนำทางหรือลูกศรไว้บนพื้นตรงทางแยก หรือจุดที่คนจะต้องหยุดเดิน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายขึ้น เข้าใจได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องการคือการสัญจรของคนที่รวดเร็ว คล่องตัว
จากตัวอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า นอกจากการเลือกสีและขนาดของงานออกแบบแล้ว การจัดวางให้องค์ประกอบต่างๆ ในงานออกแบบ อยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับการใช้งาน ก็สามารถสร้างพฤติกรรมการใช้งานที่เราต้องการให้เกิดขึ้นได้
ลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่าตำแหน่งการจัดวางเนื้อหาทับบนส่วนที่สำคัญของรูป จะทำให้รบกวนสายตา และรูปภาพก็ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
การเลือกตำแหน่งการวางที่เหมาะสมกันทั้งเนื้อหาและภาพ จะช่วยส่งเสริมการอ่านข้อความที่เราต้องการ ดึงความสนใจของผู้ใช้งานไปยังจุดสำคัญ (ในที่นี้คือข้อความโปรโมชั่น และปุ่มที่จะพาไปที่หน้ารายละเอียดสินค้า) และเพิ่มโอกาสในการคลิกหรือพฤติกรรมที่ต้องการ
สรุป
จากการสังเกตสถานีรถไฟของประเทศญี่ปุ่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกและพาเราเดินทางสู่จุดหมายที่ต้องการอย่างง่ายดาย ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การออกแบบที่ดี ที่ช่วยสร้างพฤติกรรมที่เราต้องการจากผู้ใช้งานของเรานั้น มีองค์ประกอบหลักทั้งหมด 3 อย่างด้วยกัน คือ
- สี (Color) : ช่วยแยกความแตกต่างในการการรับรู้
- สัญลักษณ์ (Symbol) : ช่วยย่นระยะเวลาการรับรู้
- ตำแหน่ง (Composition) : ช่วยสร้างลำดับการรับรู้
ใครจะไปคิดว่า การไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจที่ต่างประเทศก็สร้างเปิดมุมมองและวิธีการทำงานดีๆ ให้กับเราได้! ยังไงก็อย่าลืมเอาไปลองปรับใช้กันดู หรือลองไปสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว อาจจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ได้นะคะ