การตัดสินใจเลือกคณะเรียนน่าจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจครั้งใหญ่ของวัยรุ่นเกือบทุกคน
และการที่คนๆ หนึ่งเลือกเรียนคณะอะไรก็แล้วแต่ ไม่ต่างกับการ “แปะป้าย” บนตัวเองเหมือนสินค้าที่บอกยี่ห้อ ถ้ามีใครเรียนคณะแพทย์ เราก็แปะป้ายเขาเป็น ‘หมอ’ พอสอบติดคณะวิศวะก็ถูกแปะป้ายเป็น ‘วิศวกร’ ในทันที
แต่คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า เราจะต้องเป็นไปตามป้ายที่ถูกแปะเท่านั้นหรือ? จริงๆ แล้วเราสามารถเป็นอะไรก็ได้หรือเปล่า?
ถ้าคุณถามฉัน คำตอบของฉันคือ เราน่าจะทำอะไรได้หลายอย่างตามที่เราอยากเป็น
การเลือกเส้นทางเดินครั้งแรกของฉันเกิดขึ้นตอนม.6 ฉันตัดสินใจเลือกเรียนต่อมหาลัยคณะวิศวะด้วยเหตุผลเรียบง่าย เพราะชอบวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ชอบความท้าทาย ดูเป็นอาชีพที่มีหลักมีฐานมั่นคง แล้วพอจินตนาการว่าตัวเองเป็นวิศวกรกำลังแก้โจทย์ยากๆ ก็ดูเท่ไม่เบา …เมื่อมองย้อนกลับไปตอนนั้นฉันคิดว่าการตัดสินใจเลือกเส้นทางวิศวะต้องใช่แน่ๆ
และทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี…จนกระทั่งจุดเปลี่ยนเริ่มเกิดขึ้นตอนปี 2 เวลาผ่านไปพร้อมกับภาพในจินตนาการเริ่มบิดเบี้ยวทีละน้อย ความสับสนเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคำถาม “สรุปแล้วนี่ใช่เส้นทางของฉันจริงๆ หรือเปล่า?” ยิ่งเรียนฉันก็ยิ่งได้แก้โจทย์ปัญหายากขึ้น มีโปรเจคใหม่ๆ เข้ามาท้าทาย แต่ฉันกลับไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ นี้ได้เลย
ฉันเชื่อว่ามีหลายคนที่น่าจะรู้สึกสับสนแบบเดียวกัน กว่าฉันจะตอบตัวเองได้ว่าวิศวะไม่ใช่เส้นทางสำหรับฉันก็หนึ่งปีต่อมา อย่างไรก็ตามใช่ว่าฉันจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากเส้นทางนี้ อันที่จริง การทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่ถนัดให้บทเรียนดีๆ ไม่น้อย แถมยังเป็นบทเรียนที่เป็นประโยชน์ในการทำงานอื่นๆ ต่อมาของฉันอีกด้วย
และนี่ก็คือ 3 สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้บนเส้นทางวิศวะก่อนจะเปลี่ยนทางเดินในเวลาต่อมา
1. ได้ค้นพบตัวเอง
บนโลกนี้มีไม่รู้ตั้งกี่ล้านเส้นทาง ฉันก็เหมือนกับอีกหลายๆ คนที่กำลังพยายามตามหาเส้นทางที่ใช่ของตัวเอง อย่างน้อยการเรียนวิศวะก็ทำให้ฉันได้ “ค้นพบ” ตัวเองว่านี่ไม่ใช่เส้นทางของฉัน เหมือนเวลามีอาหารตั้งอยู่ตรงหน้า ถ้าคุณอยากรู้ว่าอาหารจานนี้อร่อยหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดคือตักขึ้นมา “ชิม” เพราะสุดท้ายถ้ารสชาติไม่อร่อยถูกปาก คุณก็แค่เปลี่ยนไปกินเมนูอื่นเท่านั้นเอง
2. เจอเรื่องท้าทายความสามารถ
การเรียนในคณะวิศวะทำให้ฉันได้ฝึกทักษะอะไรหลายๆ อย่างที่ยังได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น ทักษะการเขียนโปรแกรมที่ช่วยฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน ทักษะการต่อวงจรอิเล็กโทรนิกส์ที่ฝึกการทำงานละเอียด รวมถึงการแก้ปัญหาในการทำโปรเจคในแต่ละเทอม ที่สำคัญคือหลายครั้งที่ได้โจทย์ยากซับซ้อน (แถมหนักมาก) สิ่งเหล่านี้ขยายศักยภาพของเรา และสร้างภูมิคุ้มกันเวลาเราเจอเรื่องยากๆ ในวันข้างหน้า อย่างประโยคคลาสสิคที่ว่าไว้ “What doesn’t kill you make you stronger!”
3. ฝึกจะคิดบวกในสิ่งที่ทำ
นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับฉันเลยทีเดียว เพราะต่อให้ทำสิ่งที่ชอบก็ยังต้องเจอเรื่องไม่ได้ดั่งใจบ้าง แต่มันท้าทายกว่าเมื่อต้องทำสิ่งที่ ‘ไม่ใช่’ บางช่วงเวลาเราอาจจะต้องทำงานที่ไม่ถนัดบ้าง วิธีคิดที่ทำให้ฉันผ่านไปได้คือ พยายามมองหาข้อดีในสิ่งที่เรียนงานที่ทำ เช่น ถามตัวเองว่าเราจะได้ประโยชน์จากงานนี้อย่างไร มองมันเป็นด่านโหดด่านหนึ่งในเกมที่ต้องผ่านไปให้ได้ มองยังไงก็ได้ให้มันเป็นเรื่องสนุก รู้ตัวอีกทีมันก็ผ่านไป และทัศนคติของเราก็เข้มแข็งขึ้นด้วย
จุดสิ้นสุดของเส้นทางหนึ่งอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอีกเส้นทางหนึ่ง มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมฉันจึงกลายมาเป็น ‘Digital Content Writer’ ได้ทั้งๆ ที่ดูไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย
เริ่มต้นเส้นทาง Digital Content Writer
เท้าความก่อนซักเล็กน้อยว่าฉันเป็นคนชอบอ่าน ชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก ชอบจดบันทึก เล่าเรื่อง เขียนไดอารีมาตลอด และมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียนและได้ออกหนังสือที่ตัวเองเขียนเอง แต่พอโตขึ้นมาก็น่าเสียดายที่มองการเขียนเป็นแค่งานอดิเรก เขียนหนังสือยามว่างเพื่อคลายเครียด จึงยังไม่เคยมีผลงานเขียนเป็นชิ้นเป็นอัน จนกระทั่งเกิดจุดหักเหขึ้นตอนที่ฉันมาเจอกับ Magnetolabs
การเจอกันของฉันและ Magnetolabs มาถูกที่ ถูกเวลาพอดี ในขณะที่ฉันกำลังมองหาเส้นทางใหม่ ทันใดนั้นก็มองเห็นโอกาสนี้พอดี!
ตอนที่บังเอิญรู้จักบริษัทนี้ ฉันเอะใจกับชื่อบริษัทเป็นอย่างแรก (ชื่อน่ารักจัง) เอะใจต่อมาคือคำว่า Inbound Marketing (การตลาดแบบดึงดูด) ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิต และเลื่อนอ่านจนเจอตำแหน่ง “Digital Content Writer” ที่บริษัทกำลังเปิดรับสมัครอยู่ ซึ่งก็ไม่เคยอยู่ในหัวเลยเช่นกัน แต่มันเป็นวินาทีที่ความฝันตอนเด็กๆ ผุดขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความที่ชอบเขียนเป็นทุนเดิม บวกกับรูปแบบการทำตลาดที่น่าสนใจ ฉันจึงคว้าโอกาสนี้ไว้โดยไม่ลังเล
ฉันเขียน Resume อย่างรวดเร็ว งานเขียนส่วนใหญ่คือ ‘ภาษาคอมพิวเตอร์’ (เขียนโปรแกรมประจำตั้งแต่สมัยเรียน) ในขณะที่ผลงานเขียน ‘ภาษาคน’ อย่างบทความนั้นว่างเปล่า นอกจากขีดๆ เขียนๆ บนบล็อกบ้าง สมุดบ้างก็ยังไม่เคยมีงานตีพิมพ์บนสื่อใดๆ อย่างเป็นทางการ แถมสายงานที่เรียนมาก็ไม่ตรงกันเลย อย่างไรก็ตามฉันไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา เอาไงเอากัน จึงตัดสินใจส่ง Resume ไปด้วยใจตุ๊มๆ ต่อมๆ
โชคดีที่พี่ๆ ที่ Magnetolabs ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาเช่นกัน ฉันจึงได้รับการติดต่อให้เข้าไปสัมภาษณ์งานหลังจากนั้นไม่กี่วันต่อมา
การสัมภาษณ์งานเป็นไปด้วยดี บรรยากาศสบายๆ พอจบการสัมภาษณ์ฉันก็ได้รับการบ้านให้กลับไปเขียนบทความยาว 1,000 คำในหัวข้อที่ไม่ถนัดเขียนที่สุด (ฮา) หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ที่ลุ้นแสนลุ้น ในที่สุดฉันก็ได้รับโทรศัพท์ “ยินดีด้วย น้องผ่านการคัดเลือกเข้าทำงาน”
ขอบคุณพี่แบงค์ พี่โบ และพี่อรผู้ที่สัมภาษณ์งานฉัน ยิ่งทำให้ฉันมั่นใจว่าการเลือกเรียนคณะอะไรก็ตามไม่ใช่การขีดเส้นกั้น หรือแปะป้ายว่าคุณจะทำได้แค่สิ่งนั้นสิ่งเดียว การเลือกคณะไม่ควรเป็นข้อจำกัดให้เราไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ การเรียนที่แท้จริงต้องส่งเสริมให้เราสามารถเอาความรู้ไปประยุกต์ในงานอื่นได้ด้วย
…และเส้นทาง ‘Digital Content Writer’ ของฉันก็เริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่จุดนี้เอง 🙂
Digital Content Writer เราทำอะไรบ้าง?
หลังจากเดินบนเส้นทางนี้มาซักระยะก็ได้เข้าใจว่าการเป็น Digital Content Writer นั้นเป็นมากกว่านักเขียน งานของเราคือเขียนก็จริง แต่เนื่องจากงานทั้งหมดอยู่บนโลกดิจิทัล ดังนั้นจึงต้องสร้างคอนเทนต์หลายรูปแบบ เช่น บทความบนเว็บไซต์ อีบุ๊ก แบนเนอร์ เฟซบุ๊กโพสต์ เป็นต้น
ว่ากันว่าคอนเทนต์คือ ‘หัวใจ’ สำคัญของการตลาด คอนเทนต์ส่งผลต่อ SEO ของเว็บไซต์และสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คอนเทนต์เต็มไปหมด โจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรล่ะให้คอนเทนต์มีความโดดเด่นน่าสนใจ? สามารถค้นเจอได้โดย Search Engine และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาอ่าน
คำตอบคือทำคอนเทนต์ให้มีคุณค่า เราต้องอ่านเยอะ ติดตามข่าวสารแวดวงดิจิทัลสม่ำเสมอ และทักษะที่ขาดไม่ได้เลยคือการรีเสิร์ชข้อมูล (ขอบคุณคณะวิศวะที่ทำให้ฉันมีทักษะนี้ติดตัว) วิเคราะห์และเรียบเรียงข้อมูลให้มีรูปแบบอ่านง่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์
มองเผินๆ เส้นทางสายวิศวะและนักเขียนเหมือนจะแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ถูกทั้งหมด อันที่จริงมันต่างกันแค่ความรู้เฉพาะของงานเท่านั้น สุดท้ายกระบวนการทำงาน หรือวิธีคิดก็ใกล้เคียงกันอยู่ดี ถึงแม้ฉันไม่ได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมโดยตรง แต่ทักษะที่ใช้ในการทำงาน Digital Content Writer ก็ได้มาจาก 4 ปีในรั้ววิศวะด้วย ทั้งทักษะการคิดเป็นเหตุเป็นผล การวางแผนอย่างขั้นเป็นตอน ไหวพริบในการแก้ปัญหา ดังนั้นไม่มีการเรียนรู้ใดที่สูญเปล่า สุดท้ายมันก็จะถูกวนกลับมาใช้อยู่ดี
สรุป
“ไม่เสียดายเหรออุตส่าห์เรียนมาตั้ง 4 ปี?” เพื่อนคนหนึ่งถามฉันหลังจากที่ตัดสินใจจะไม่ทำงานเกี่ยวกับสายงานวิศวะที่เรียนมา
ถ้าฉันเลือกทำงานด้านวิศวะด้วยความรู้สึก “เสียดาย” 4 ปีที่อุตส่าห์เรียนมา แล้วอีกหลายสิบปีหลังจากนี้ล่ะ…เราจะมา “เสียใจ” ทีหลังหรือเปล่า?
ไม่มีการตัดสินใจใดถูกหรือผิด และในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครตัดสินใจแทนเราได้ อย่ายอมให้ใคร “แปะป้าย” ว่าคุณต้องเป็นอะไร เพราะหากคุณเป็นคนเลือกเองแล้วสุดท้ายมันไม่ใช่ อย่างน้อยที่สุดคุณก็ได้เรียนรู้จากมัน
และนี่ก็คือเรื่องราวเส้นทางจากวิศวะสู่การเป็น Digital Content Writer ของฉัน ฉันมีเส้นทางเดินของตัวเองแล้ว คำถามที่จะฝากสุดท้ายคือ แล้วคุณล่ะ…ได้เลือกเส้นทางเดินของตัวเองหรือยัง?
2 Comments
เป็นกำลังใจให้นะครับ กับเส้นทางที่เลือกเดิน บน digital content writer เขียนอ่านสนุกดี สิ่งสำคัญสำหรับนักเขียนเลยก็คือ การค้นหาข้อมูล การเขียนจากสิ่งที่รู้ และถนัด ชอบ และหลงใหลในสิ่งนั้น … โลกมีอะไรให้เราได้เจอ ได้ค้นพบมากมาย และเสน่ห์ของนักเขียน Digital content ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทาง ในการปล่อยของ และเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเรา ในการถ่ายทอดเนื้อหาดี ๆ กับผู้อ่าน ข้ามผ่านกาลเวลา
เป็นกำลังใจให้น้อง Waricha
ขอบคุณมากค่ะคุณ Paisarn (อ่านไปยิ้มไปเลยค่ะ) ดีใจที่ได้เดินเส้นทางนี้ค่ะ แล้วก็จะพัฒนาตัวเองต่อไปแน่นอนค่า 🙂