210
SHARE

ถอดรหัสสมัครงาน: 5 เทคนิคสมัครงานบริษัท ให้ได้งานที่ใช่!

สำหรับเด็กจบใหม่ หรือ “New grads” ทั้งหลายที่ไม่เคยมีประสบการณ์การสมัครงานหรือผ่านโลกการทำงานจริงๆ มาก่อน ความผิดหวังจากการสมัครงานบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างลึกซึ้ง เพราะสถานการณ์นี้หมายถึงการติดอยู่ใน ‘ช่องว่าง’ อันเคว้งคว้างระหว่างการเป็นเด็กและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีงานทำ สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ นำมาซึ่งความกดดันและคำถามที่กลุ้มรุมบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังใจจนถดถอย 

…“เราเก่งไม่พอ?” “เราแย่ถึงขั้นไม่สามารถทำงานให้ใครได้?” “มีแต่คนเก่งกว่าเราทั้งนั้น พวกเขาก็คงได้งานไปแล้ว และก็คงไม่เหลือที่สำหรับเราหรอก” ฯลฯ

ในช่วงที่เพิ่งเรียนจบ ผมก็เป็นหนึ่งใน New grads ที่ต้องเผชิญกับภาวะกดดันแบบนั้นเช่นกัน ความผิดหวังจากการรอคอยอย่างไร้จุดหมายจากการสมัครงานบริษัทไปกว่า 10 แห่ง ในระยะเวลากว่า 3 เดือน (ผมพยายามเลือกงานที่ตรงกับความสามารถของตัวเองซึ่งในช่วงนั้นมีเปิดรับสมัครเพียงไม่กี่ที่) ไม่มีการติดต่อกลับมาเลย ผมย้ำถามตัวเองซ้ำๆ อยู่แรมเดือนจนถึงขั้นเสียน้ำตาว่าทำไมไม่ได้งานสักที ทั้งๆ ที่ก็รู้สึกว่าเราเองก็มีความสามารถพอที่จะทำอะไรต่อมิอะไรได้ จนในวันหนึ่ง ท่ามกลางคำถามร้อยพันที่ผุดขึ้นมาในใจ มีหนึ่งคำถามที่ฉุดดึงสติและผลักผมออกจากวังวนความคิดสู่การลงมือทำ

ทำไมไม่มีใคร ‘มองเห็น’ เราหรือความสามารถที่เรามีเลย

ผมกลับมาพิจารณาตัวเองอีกครั้ง ดูว่าก่อนหน้านี้เราทำอะไรลงไป และเมื่อมองจากมุมมองผู้จ้างแล้ว ทั้ง Resume Cover letter หรือแม้กระทั่งการเขียนหนังสือขอสมัครงานของผมนั้น ไม่ได้น่าสนใจเลย ไม่มีทางที่ผู้จ้างจะ ‘เห็น’ ผมได้ในหมู่มวลคนหางานหลายร้อยหรืออาจถึงหลักพันคนได้ หลังจากมองเห็นปัญหาแล้ว ผมก็ได้พบกับประกาศรับสมัครงานของ Magnetolabs ผมจึงตั้งต้นทำทุกอย่างใหม่ด้วยวิธิคิดที่เปลี่ยนไปและยื่นสมัครงานบริษัทนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันได้ผล! ผมจึงอยากแชร์สิ่งที่ผมได้ลองทำจริง ด้วย 5 เทคนิคต่อไปนี้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้คุณได้งานสมใจนะครับ! 😀

Note: บทความนี้ผมเขียนขึ้นในมุม New grads ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย แต่หากคุณอยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว นายจ้างมีเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใครมาสัมภาษณ์งานอย่างไร แนะนำให้อ่าน บทความเรื่อง 5 สาเหตุที่คุณไม่ถูกเชิญสัมภาษณ์งาน จากมุมมองของผู้ร่วมก่อตั้งของ ​Magnetolabs ดูครับ

1. ทำความรู้จักองค์กรให้ดี

ตอนที่ผมไล่หางานตามเว็บไซต์หางานต่างๆ ผมมักจะเข้าไปยังลิงก์เว็บไซต์ของบริษัทในส่วนรายละเอียดผู้จ้างหรือนำชื่อบริษัทไปเสิร์ชต่อ เพื่อดูว่าบริษัทที่ผมอยากไปทำงานด้วยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผมรู้จักที่ที่ (อาจ) จะได้ไปอยู่จริงๆ แล้ว การศึกษาองค์กรให้ดียังมีประโยชน์ต่อการเขียนอีเมลหรือจดหมายสมัครงานด้วย โดยประเด็นที่ผมจะดูมีหลักๆ ด้วยกัน 3 ข้อ ดังนี้

  • บริษัทเป็นใคร ทำอะไร และอยู่ที่ไหน

สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ การทำความเข้าใจว่าบริษัทนั้นคือใคร และทำอะไรบ้าง โดยดูจากเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัท ใคร ในที่นี้มีหลายประเด็นที่ผมสนใจ เช่น บริษัทเป็นบริษัทสัญชาติอะไร เป็นองค์กรเดี่ยวหรือเป็นสาขา บริษัททำงานให้ใคร เป็นบริษัท Startup หรือระดับ Enterprise องค์กรใหญ่หรือไม่ ก่อตั้งนานแล้วหรือยัง และอาจรวมไปถึงว่าใครเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร เป็นต้น

ส่วน ทำอะไร หลักๆ คือ การดูว่าบริษัทผลิตอะไร ขายอะไร หรือให้บริการอะไร รวมทั้ง ลูกค้าเป็นใครด้วยก็ได้ เพื่อที่จะได้เข้าใจตัวองค์กรมากขึ้นและคาดการณ์ดูว่า ตัวเองจะสามารถทำงานเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือต้องเตรียมตัวอะไรเพิ่ม

ยกตัวอย่างตอนที่ผมกำลังจะสมัครงานตำแหน่ง Digital Content Writer ที่ Magnetolabs ผมก็เข้ามาอ่านข้อมูลบนเว็บไซต์ และพบว่า Magnetolabs มี Blog ที่เขียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งทำให้ผมรู้ว่า Magnetolabs…

  • เป็นองค์กรเดี่ยว ไม่มีสาขา ทำงานให้ลูกค้าเพื่อตัวองค์กรเอง
  • เป็น Agency ที่รับทำการตลาดแบบแรงดึงดูด (Inbound Marketing) ด้วยการรับทำเว็บไซต์และผลิตคอนเทนต์เพื่อสนับสนุนการตลาด
  • เป็นบริษัท Startup ที่เพิ่งก่อตั้งไม่ถึง 2 ปีและกำลังเติบโต (ผมรู้จากบทความนี้)
  • มี Co-Founder และ Director เป็นใครบ้าง และพี่ๆ ยังเป็นวัยรุ่น!!

ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ผมรู้ว่า ผมจะต้องสื่อสารกับองค์กรอย่างไร ซึ่งก็คือ ไม่ต้องทางการมากเกินไป สามารถใส่ความเป็นกันเองลงไปได้ตามความเหมาะสม เน้นการสื่อสารอย่างมีพลัง ความกระตือรือร้น ชัดเจน และจริงใจ เป็นต้น และสิ่งที่ผมต้องเตรียมก็คือ ความรู้เรื่อง Inbound Marketing และการเขียนคอนเทนต์เชิงการตลาด เป็นต้น

นอกจากนี้ ผมจะให้ความสำคัญกับ ที่ไหน ด้วย เพราะสำหรับผม การเดินทางเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ หากบริษัทอยู่ไกลจากบ้านมาก เราอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายในการหาที่พักใหม่ การเดินทาง รวมถึงต้นทุนด้านเวลาในการเดินทาง ซึ่งจำเป็นต้องนำมาคำนวณว่าจะคุ้มกับเงินเดือนหรือไม่

  • บริษัทเชื่อในสิ่งใด ให้คุณค่ากับอะไร และกำลังต้องการอะไร

ผมมีหลักในการเลือกที่ทำงานด้วยการดูว่าบริษัทเชื่อและให้คุณค่ากับสิ่งใด เพราะถ้าหากความเชื่อของบริษัทไม่ตรงกับเรา เมื่อได้ไปทำงานก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับการทำงานของบริษัท เกิดความไม่สบายใจ หรือสุดท้ายอาจรู้สึกว่า ‘เลือกงานผิด’

การรู้ว่าบริษัทเชื่อในสิ่งใด และกำลังต้องการอะไร จะเป็นประโยชน์ในการเขียนอีเมลหรือจดหมายสมัครงานบริษัท และการสัมภาษณ์งานอย่างยิ่ง เพราะหากเรานำเสนอสิ่งที่เขาต้องการ โดยเฉพาะคุณสมบัติการทำงานและคุณลักษณะทั่วไป และเชื่อในสิ่งที่ตรงกับใจของผู้จ้างแล้ว ก็เป็นการส่งสัญญาณให้บริษัทรู้ว่า เราพร้อมที่จะก้าวเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกับเขา ทำใ้ห้รู้สึกว่าเราเป็น ‘พวกเดียวกัน’ และสร้างแรงดึงดูดให้อยากชวนมาร่วมงานด้วย โดยเราอาจดูได้จากวิสัยทัศน์ พันธกิจ หรือปรัชญาขององค์กร

สำหรับ Magnetolabs ที่นี่เชื่อมั่นในพลังของ Inbound Marketing อย่างมาก และให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ เหล่านี้

  • Passion เชื่อมั่นใน Inbound Marketing ถึงขั้นบอกว่า “Inbound is our life”
  • Tech หลงใหลเทคโนโลยีและชอบให้ใครเรียกว่าเป็น “Tech geek”
  • Team ให้ความสำคัญกับทีมมากๆ
  • Fun เชื่อว่าชีวิตไม่ได้มีแต่งาน เรื่องเล่นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และช่วยสร้างความแข็งแกร่งในการทำงานได้เหมือนกัน
  • Integrity ให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์ต่อทั้งลูกค้า พาร์ทเนอร์ และเพื่อนร่วมงาน

ฉะนั้น สิ่งที่ผมสื่อสารไปในอีเมลสมัครงานจะสื่อให้เห็นถึงความสนใจใน Inbound Marketing แสดงความซื่อสัตย์จริงใจโดยบอกว่า ผมไม่ค่อยมีความรู้ด้านการตลาดและไม่เก่งเทคโนโลยี ทั้งนี้ มีความสนใจและพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง และแสดง Passion ด้วยผลงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่สมัคร คือ การเขียน รวมทั้งระบุคุณสมบัติที่บริษัทต้องการ อย่างเช่น Teamwork, Self-motivated, Growth mindset  ลงใน Resume เป็นต้น

  • วัฒนธรรมองค์กร และบรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไร

อีกเรื่องที่ผมให้ความสำคัญ คือ บรรยากาศการทำงานซึ่งหมายถึงทั้งวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนร่วมงาน และตัวสถานที่เอง เพราะในความคิดของผม ที่ทำงานก็เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง ผมไม่อยากให้ที่ทำงานเป็นคุกเป็นคอกที่จับเรานั่งก้มหน้าทำงานเป็นหุ่นยนต์ ผมมองว่าการเลือกที่ทำงานคือการเลือกสังคมและเลือกที่อยู่ หากเราได้อยู่ในที่ที่พอดีกับเรา ไม่ต้องปรับตัวมาก เป็นตัวเองได้ การมาทำงานในทุกๆ วันก็จะไม่น่าขื่นขม

เหตุผลที่ผมเลือกและตั้งใจสมัครมาทำงานกับ Magnetolabs นั่นก็เพราะว่าที่นี่ตอบโจทย์ ‘งานที่ใช่’ ในอุดมคติของผม ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • ผู้บริหารเป็นคนรุ่นใหม่ (อย่างที่บอกไปแล้ว พี่ๆ ยังเป็นวัยรุ่นฟ้อเฟี้ยวกันอยู่เลย) อยู่ใน Generation เดียวกัน น่าจะสื่อสารและทำงานร่วมกันได้ง่ายและเป็นกันเอง
  • เป็นธุรกิจ Startup และเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ทุกอย่างน่าจะยังใหม่ เปิดรับความคิดเห็น สามารถเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมบริษัทได้ และด้วยความเป็น Startup บรรยากาศการทำงานน่าจะเต็มไปด้วยความฝันและแรงขับเคลื่อนบางอย่างที่สดใหม่ มีพลัง
  • ไม่มีการตอกบัตร แสกนนิ้วเวลาเข้า-ออกงาน และเวลาทำงานค่อนข้างยืดหยุ่น ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและผลลัพธ์ของงานมากกว่าเรื่องเวลา (เพราะบางทีการเดินทางในกรุงเทพฯ ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ หากนำเรื่องเข้า-ออกงานมาประเมิน ผมมีสิทธิ์ถูกเด้งแน่ๆ)
  • ให้ความสำคัญกับ “เรื่องเล่น” โดยในหน้าประกาศรับสมัครงานก็ระบุไว้ด้วยว่าที่นี่มีบอร์ดเกมซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผมชอบมากๆ และยิ่งถ้าเรื่อง “Fun” ยังถือเป็นคุณค่าหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญด้วยแล้ว อย่างไรบริษัทแห่งนี้ต้องไม่ใช่ที่ทำงานเครียดๆ แน่นอน
  • สถานที่น่าอยู่ โต๊ะ เก้าอี้ และอุปกรณ์ต่างๆ ดูเรียบ สบายตา โมเดิร์น (เขาแปะรูปไว้ในบทความนี้ด้วยล่ะครับ)

การศึกษาวัฒนธรรมองค์กรหรือบรรยากาศการทำงานของบริษัทก่อนนั้น นอกจากจะช่วยในการพิจารณาเลือกที่ทำงานที่เหมาะกับตัวเองแล้ว การศึกษาเรื่องนี้ก็อาจช่วยในเรื่องวิธีสื่อสารด้วยเช่นกัน เช่น เราสามารถเพิ่ม “กิมมิก” เล็กๆ ในการสื่อสาร ที่แสดงให้เห็นว่าเรารู้จักวัฒนธรรมองค์กรเขาดี และเราเองก็เป็นคนประเภทนั้นๆ ในวัฒนธรรมนั้นๆ เช่นกัน เรื่องนี้เดี๋ยวผมจะไปพูดอีกทีในหัวข้อการเขียนอีเมลนะครับ

2. คุยกับตัวเองให้เคลียร์

หัวข้อนี้หลักๆ คือ การถามตัวเองหลังจากที่รู้จักบริษัทและขอบเขตงานที่น่าจะได้ทำแล้ว เพื่อที่จะให้แน่ใจว่า เราพร้อมที่จะมุ่งหน้าเดินไปสู่เป้าหมายและด้วยแนวทางของบริษัทหรือไม่ นอกจากนี้ เพื่อที่เราจะได้ตกผลึกความคิด ความรู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติการทำงานออกมาเป็นข้อความ เป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น และเราก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดไปยัง (อนาคต) ผู้ว่าจ้าง

คำถามที่ผมถามตัวเอง ผมได้มาจากการคุยกับเพื่อนๆ หลายคนในช่วงที่กำลังเคว้งๆ เรื่องหางาน จนตกตะกอนเป็นคำถามที่ผมใช้ถามตัวเอง ดังนี้

  • เราต้องการทำอะไร (และใช่กับที่บริษัทต้องการหรือเปล่า)

ผมจะถามตัวเองเมื่อเจอบริษัทที่สนใจว่า ที่บริษัทแห่งนั้น มีอะไรที่ผมอยากจะทำหรือไม่ และสิ่งที่ผมอยากจะทำนั้นตรงหรือใกล้เคียงกับสิ่งที่บริษัทต้องการหรือเปล่า

สำหรับผม การที่ผมสมัครงานบริษัทในตำแหน่ง Content Writer ที่ Magnetolabs แน่นอนว่าสิ่งที่ผมต้องการคือการเขียน ซึ่งตำแหน่งนี้ก็ตอบโจทย์กับที่บริษัทต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Magnetolabs ก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของคอนเทนต์และการส่งต่อความรู้ด้วยการเขียน (เพราะที่นี่สนับสนุนให้พนักงานเขียน Blog ตามที่คุณอ่านอยู่ตอนนี้) ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมมุ่งมั่นที่จะทำ ดังนั้น ทั้งสิ่งที่ผมต้องการและสิ่งที่บริษัทต้องการนั้นเหมือนกัน รออะไรล่ะครับ สมัครเลย!

  • เราคาดหวังอะไรกับการทำงาน (เช่น การพัฒนาทักษะ/ความรู้เฉพาะด้าน)

เรื่องการทำงาน ในความคิดของผม ไม่ได้หมายความถึงการ ‘ขาย’ แรงงานกาย แรงงานความคิดเพื่อ ‘แลก’ เงินเพียงเท่านั้น หากแต่ยังหมายความถึงการฝึกฝน พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ คือการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ดังนั้น สิ่งที่ผมคาดหวังจากงานจึงไม่ได้มีแค่เรื่องค่าตอบแทน แต่รวมถึงการเรียนรู้จากองค์กรและการพัฒนาทักษะตัวเองในทุกวัน เมื่อสมัครงานไป ผมก็จะแทรกความต้องการนี้ลงไปด้วย

  • ทำไมถึงต้องเป็นบริษัทนี้ บริษัทจะตอบโจทย์เราอย่างไร

คำถามนี้คือคำถามเด็ด ถ้าหากเราเชื่อมโยงได้ว่าความสามารถและความคาดหวังของเรา ตรงกับสิ่งที่บริษัทกำลังมองหาอย่างไร และสามารถสื่อสารให้เขารู้ได้ จะทำให้ว่าที่ผู้ว่าจ้างมั่นใจขึ้นว่า เราให้ความสำคัญและอยากเข้าทำงานที่นี่จริงๆ เมื่อตอนที่ยื่นสมัครงานบริษัท Magnetolabs ผมก็บอกไปในอีเมลและ Cover letter ว่า บริษัทจะช่วยให้ผมได้ทำงานที่รักและช่วยให้ผมเติบโตขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้การทำงานในองค์กรขนาดเล็กในระยะเติบโต

จากการทำความรู้จักองค์กรให้ดีสู่การทบทวนความต้องการของตัวเอง เมื่อเราแน่ใจว่าที่นี่แหละที่ใช่สำหรับเรา ก็ต้องสื่อสารให้เขารู้ด้วย เพราะนั่นคือเทคนิคหนึ่งที่เป็นเป็นการแอบบอกบริษัทว่า

ถ้าเขารับเราเข้าทำงาน นั่นไม่ได้หมายความว่ากำลังจ้าง ‘ใครก็ได้’ มาทำงาน

แต่คือ ‘คนที่ใช่’ ที่มีความเชื่อ ความตั้งใจ และความต้องการที่ตรงกับองค์กร

3. เขียนอีเมลสร้าง First Impression

หากหน้าบ้านไม่สวย เราก็คงเดาว่าข้างในนั้นคงไม่แตกต่างกัน จะเสียเวลาเข้าไปเยี่ยมดูทำไม อีเมลหรือหนังสือสมัครงานบริษัทก็เปรียบเสมือนหน้าบ้าน เพราะอีเมลคือสิ่งแรกที่ผู้ว่าจ้างจะเห็นและตัดสินเราตั้งแต่แรก แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อีเมลของบางคนอาจจะระบุแค่…

“เรียน_____”

“สวัสดีครับ สมัครงาน_______ครับ”

และก็แนบ Resume หรือเอกสารอื่นๆ โดยที่ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรแก่ผู้ว่าจ้างเลย หรือแม้กระทั่งแนะนำตัวก็ไม่มี!

หลังจากที่ผมได้คุยเรื่องนี้กับพี่ที่รับผมเข้าทำงานแล้ว ขอยืนยันว่า การเขียนอีเมลเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก เพราะในแต่ละวัน มีอีเมลหลายสิบหลายร้อยฉบับที่ผู้ว่าจ้างจะต้องเปิดดู  หากเราไม่สามารถทำให้ผู้ว่าจ้างสนใจได้ตั้งแต่ในอีเมล โอกาสที่เขาจะเปิดดู Resume หรือเลือกเราขึ้นมาพิจารณาก็แทบจะไม่มี ดังนั้น หากจะเพิ่มโอกาสให้เราสมัครงานบริษัทได้ทำเร็จ เราต้องเขียนอีเมลให้น่าสนใจ เป็นมืออาชีพ และทำให้เขา ‘เห็น’ เราและความสามารถของเราตั้งแต่แรกพบบนหน้าอีเมล

โครงสร้างการเขียนอีเมลสมัครงานบริษัท

ตัวอย่างจดหมายสมัครงาน

ตัวอย่างการเขียนอีเมลสมัครงานข้างต้น เป็นโครงสร้างที่ผมใช้จริง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลักด้วยกัน ได้แก่ 1) หัวจดหมายสมัครงาน 2) ส่วนเนื้อหา และ 3) ส่วนลงท้าย โดยองค์ประกอบเหล่านี้ หากเขียนให้ดีตั้งแต่ส่วนแรกก็จะแสดงความเป็นมืออาชีพของเรา ทั้งนี้ คุณสามารถหาตัวอย่างการเขียนอีเมลดีๆ ได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตจึงขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้ เพราะสิ่งที่ผมอยากจะแชร์และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ก็คือ ส่วนเนื้อหา

ในส่วนเนื้อหาอีเมลสมัครงานบริษัท ผมจะประยุกต์นำเอาหัวข้อแรก ศึกษาองค์กรให้ดี และหัวข้อที่ 2 คุยกับตัวเองให้เคลียร์ มาเรียบเรียงเพื่อสื่อสารกับบริษัท โดยส่วนเนื้อหานั้น ผมแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ย่อหน้าที่ 1 แนะนำตัวอย่างสั้นๆ ว่า ผมชื่ออะไร เป็นใคร จบการศึกษาจากที่ไหน และต้องบอกให้ชัดเจนว่าเขียนอีเมลนี้เพื่อจุดประสงค์อะไร โดยผมบอกไปเลยว่า “ผมอยากจะเข้าร่วมทำงานและเป็นหนึ่งในทีมของ Magnetolabs ในตำแหน่ง Digital Content Writer”

ย่อหน้าที่ 2 คือส่วนที่แสดงทักษะความสามารถของเราที่เกี่ยวกับงาน อาจกล่าวสั้นๆ ว่าเคยทำอะไรหรือมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรมาก่อน ยกตัวอย่างอีเมลผมเอง จะระบุว่า “ผมมีประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการผลิตคอนเทนต์นั่นคือ รองบรรณาธิการและนักเขียนประจำวารสารคณะฯ”

ย่อหน้าที่ 3 ผมจะกล่าวถึงทัศนคติ ความเชื่อ และความคาดหวัง เพื่อแสดงให้เห็นว่าผมเข้าใจองค์กรและพร้อมที่จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกับบริษัท เช่น “Magnetolabs เป็นบริษัทที่มุ่งเน้นการตลาดแบบ Inbound มีความเชื่อว่าคอนเทนต์ที่จะผลิตต้องมีคุณค่าในตัวมันเอง ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อผู้รับบริการ ผมเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณค่าในทุกครั้ง”

ข้อมูลเพิ่มเติม: จะเป็นส่วนที่ระบุรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติม อาจเป็นรายละเอียดที่บริษัทขอ เช่น จำนวนเงินเดือนที่คาดหวัง วันที่พร้อมเริ่มงาน เป็นต้น ทั้งนี้ อาจแนบลิงก์ผลงานที่เกี่ยวข้องมาด้วย

Note: ก่อนจะเขียนอีเมลหรือจดหมายสมัครงานบริษัท ต้องอ่านรายละเอียดที่บริษัทแจ้งให้ครบถ้วน ดูว่าเขาต้องการอะไร ให้เราทำอะไรบ้าง เพื่อนำมาเขียนและเตรียมตัวให้พร้อม แสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนรอบคอบ ตั้งใจ และเป็นมืออาชีพ โดยอีเมลที่เขียนต้องกระชับ ชัดเจน และตรงประเด็นที่สุด เพื่อดึงความสนใจของผู้ว่าจ้างและไม่รบกวนเวลาของเขามากเกินความจำเป็น

4. แสดงความตั้งใจให้น่าจดจำ

ในบรรดาผู้เข้าสมัครงานที่อาจมีหลายสิบคน เราจะทำอย่างไรให้เป็นที่จดจำได้ในสายตาองค์กรได้ นอกจากความแตกต่าง โดย 2 สิ่งที่ผมเลือกใช้แทน คือ การแสดงความตั้งใจจริงและสร้างความประทับใจ

ช่วงหลังจากที่ผมส่งอีเมลสมัครงานมาที่ Magnetolabs มันก็เหมือนกลับเข้าวังวนของการรอคอยการตอบรับเหมือนแต่ก่อน แต่สำหรับครั้งนี้ ผมค่อนข้างที่จะใจร้อนไปสักหน่อย เพราะแค่ส่งอีเมลสมัครงานไปได้เพียง 10 วัน ผมก็ทนรอไม่ไหวจนต้องส่งอีเมลไปตื๊ออีกครั้ง โดยแจ้งว่า ผมได้ส่งอีเมลสมัครงานบริษัท Magnetolabs มาเมื่อวันที่ xx แล้ว และ…หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน หากประวัติและผลงานที่ส่งไปแล้วยังไม่ทำให้น่าเชื่อถือ ผมยินดีที่จะรับการทดสอบการสร้างสรรค์ผลงานตามที่บริษัทต้องการ

และเชื่อไหมครับว่า หนึ่งวันถัดไป ผมก็ได้รับอีเมลตอบกลับ เชิญให้ไปรับการสัมภาษณ์!

ผมเชื่อเลยว่า ‘ลูกตื้อ’ ของผมได้ผล 😉 เพราะสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจจริงด้วยการขอให้พิจารณาอีกครั้ง และขอโอกาสในการแสดงความสามารถ และภายหลังเมื่อเข้ามาทำงานแล้ว พี่ๆ ก็บอกว่า จำได้ว่าผมสมัครงานเข้ามาสองรอบ   

นอกจากนี้ ในวันสัมภาษณ์ ผมก็ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งขึ้นมาเพื่อแนะนำตัว โดยเลียนแบบวิธีการเขียน Blog แบบที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ เหมือนว่าผมเป็นพนักงานจริงๆ ของที่นี่แล้ว เพื่อแสดงทั้งความตั้งใจและสร้างโมเมนต์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และไม่ว่าพี่ๆ ที่มาสัมภาษณ์ผมจะพูดเรื่องอะไรเกี่ยวกับบริษัทแล้วผมเข้าใจได้ทันทีเพราะมาศึกษาองค์กรมาอย่างดี ก็น่าจะช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้ด้วย

5. มี Attitude ที่ถูกต้องต่อการสมัครงานบริษัท

สำหรับเด็กจบใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานเลย หรือแม้กระทั่งคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วบ้างก็ตาม เชื่อว่าหลายคนก็กลัวที่จะผิดหวัง ไม่ได้รับการตอบกลับ ไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งเมื่อพลาดไปหลายๆ งานเข้า ความเครียดความกดดันก็เริ่มก่อตัวเป็นวังวนแบบที่ผมเคยประสบ

ก่อนที่จะมารับการสัมภาษณ์งานที่ Magnetolabs ด้วยความที่เป็นบริษัทแรกที่เรียกผมสัมภาษณ์ ผมค่อนข้างคาดหวังมากจนเครียด จนเมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนๆ และอาจารย์ที่เคารพ ผมก็ได้ทัศนคติที่ถูกต้องมายึดไว้ในใจ นั่นคือ “เขาไม่ได้เป็นฝ่ายเลือกเรา เราเองก็เลือกเขาเหมือนกัน หากมันไม่ได้จริงๆ นั่นก็หมายความว่าที่นี่ยังไม่ใช่” แนวคิดนี้เปลี่ยนมุมมองของผมใหม่เกี่ยวกับการสมัครงาน นั่นคือ

การสมัครงานและรับสมัครงานเป็นเรื่องของ Win-win Situation มากกว่าเรื่องของใครฝ่ายใดฝ่ายเดียว

เมื่อมีทัศนคติแบบนี้ การไปสัมภาษณ์งานของผมจึงเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ความกังวลหายไป ความคาดหวังเปลี่ยนเป็นความเข้าใจและตระหนักถึงหน้าที่ในการสัมภาษณ์ คือ การเป็นตัวเองในแบบที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และการแสดงความสามารถออกมาให้มากที่สุด หน้าที่ในการตัดสินว่าจะรับหรือไม่รับเข้าทำงานเป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้าง ไม่มีความจำเป็นที่ผมจะต้องไปกดดันตัวเองให้รู้สึกเครียด

ผมเชื่อว่าหลักคิดนี้ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความนับถือในตัวเอง และเมื่อมีทัศนคติที่ดี ก็ย่อมแสดงออกมผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง วิธีการพูด กลายเป็นบุคลิกที่น่าเชื่อถือแต่ในขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์ด้วยความเป็นตัวของตัวเอง

สรุป

ในช่วงเวลาที่ผมผิดหวังจากการที่ไม่มีบริษัทไหนเรียกไปสัมภาษณ์งาน สิ่งที่ทำให้ผมหลุดพ้นวังวนความคิดเชิงลบที่คอยบั่นทอนจิตใจ คือการมีสติและเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมทำแล้วได้ผลจริง ก็สรุปมาเป็นเทคนิคสมัครงานบริษัทข้างต้นทั้ง 5 ข้อ ที่หวังว่าจะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้นและได้งานที่ใช่สมใจ

ผมเชื่อว่าที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ อาจเพราะอยู่ในช่วงที่กำลังหางานและสมัครงาน หวังว่าบทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไม่มากก็น้อย ขอให้คุณได้งานอย่างที่หวังนะครับ

และถ้าอ่านจนถึงตอนนี้แล้วรู้สึกว่า Magnetolabs คือที่ที่ใช่ของคุณ รออะไรล่ะครับ สมัครเลย!

New call-to-action

Author

Savaris

ต้า เป็น Digital Content Writer ที่ Magnetolabs และสำนัก Content Shifu หลงใหลการส่งต่อความรู้ด้วยการเขียน ชอบงานศิลปะ วรรณกรรม การพัฒนาตนเอง อดีตเคยเป็นคนตกยุค ขยาดเรื่องเทคโนโลยี แต่ตอนนี้กำลังตื่นเต้นกับโลกการตลาดและดิจิทัลคอนเทนต์
ต้า เป็น Digital Content Writer ที่ Magnetolabs และสำนัก Content Shifu หลงใหลการส่งต่อความรู้ด้วยการเขียน ชอบงานศิลปะ วรรณกรรม การพัฒนาตนเอง อดีตเคยเป็นคนตกยุค ขยาดเรื่องเทคโนโลยี แต่ตอนนี้กำลังตื่นเต้นกับโลกการตลาดและดิจิทัลคอนเทนต์

Related Blog

Leave Your Comment