1 ปีที่ผ่านมา บริษัท Magnetolabs เราเติบโตขึ้นกว่า 300% ในแง่ของรายได้ และ 400% ในแง่ของจำนวนคนในทีม
การที่เรามีได้มีโอกาสทำงานให้กับลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น มีงานเข้ามาที่เยอะขึ้น จำนวนทีมงานที่มากขึ้น ทำให้ทีมผู้บริหารมือใหม่อย่างเราต้องกลับมาคุยมาตั้งคำถามกันว่า
“อะไรคือสิ่งที่จะทำให้บริษัทของเราเติบโตและดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะยาว?”
คำตอบที่เราได้ ก็คือ “เรื่องคน” ซึ่งเป็นคำตอบที่ตอบไม่ยาก (ลองถามผู้ประกอบการ ร้อยทั้งร้อยตอบแบบนี้ทั้งนั้น) แต่จะทำอย่างไรให้เวิร์ค นี่ล่ะคือความยาก
ในบทความนี้ เราจึงจะมาแชร์ถึงวิธีที่พวกเรากำลังพยายามสร้าง Company Culture และ Core Value ที่ Magnetolabs โดยการนำไปผูกเข้ากับ OKRs
ค่านิยมองค์กร (Core Value) และ วัฒนธรรมองค์กร (Company Value) ทำไมจึงสำคัญ ?
Jim Rohn นักพูดชื่อดังกล่าวไว้ว่า
“You’re the average of the FIVE people you spend the most time with” — Jim Rohn
หมายความว่า การที่คุณจะเป็นคนอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับคนรอบตัวของคุณ 5 คน ที่คุณใช้เวลาด้วยมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารอบตัวคุณ มีแต่คนที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คุณก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เหมือนกับเขาด้วย
ซึ่งโดยปกติแล้ว เวลาในแต่ละวันของคนส่วนใหญ่ 30% จะถูกใช้ไปในการทำงาน (อีก 30% คือเวลาส่วนตัว และอีก 30% คือเวลานอน) ที่ทำงานจึงเป็นอีกสังคมที่สำคัญ เป็นที่หล่อหลอมคนไม่ต่างจากโรงเรียน ฉะนั้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ซึ่งการจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นนั้น ต้องย้อนไปตั้งแต่การสร้าง ค่านิยม องค์กร ในระดับตัวบุคคลเลยทีเดียว
ค่านิยม (Value) คือสิ่งที่นำทางในการใช้ชีวิตของคนคนหนึ่ง องค์กรก็เช่นเดียวกัน ค่านิยมองค์กรเหมือนเป็นเข็มทิศที่ช่วยชี้นำว่าองค์กรจะดำเนินกิจการหรือธุรกิจไปในทิศทางไหน
สำหรับ Magnetolabs ในวันนี้ วันที่จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เราเห็นว่าการย้อนกลับไปตั้งต้นที่ Company Core Value น่าจะอีกวิธีช่วยทำให้บริษัทของเราแข็งแกร่ง มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นไปอย่างที่เราตั้งใจและคิดว่ามันควรจะเป็น
3 ขั้นตอนการสร้าง Core Value และ Company Culture ของ Magnetolabs
1. ระดมความคิด
ขั้นตอนแรก เราจะจินตนาการภาพสังคมในที่ทำงานที่เราอยากให้เป็น คนในที่ทำงานที่เราอยากทำงานด้วย คนคนนั้นต้องเป็นคนอย่างไรมีความเชื่อในเรื่องอะไร มีพฤติกรรมแบบไหน? แล้วทำออกมาเป็น Persona ของคนคนนั้น เพื่อใช้เป็น Role Model
เมื่อได้ Persona หรือ Role Model แล้ว คำถามด้านล่างคือสิ่งที่เราทำเป็นขั้นตอนต่อไป
ตัวอย่างคำถามที่ใช้พูดคุยเพื่อหา Core Value ของบริษัท
- อะไรคือสิ่งที่จะช่วยนำทางให้พวกเรา เมื่อพบเจอปัญหาหรือการตัดสินใจที่ยาก?
Magnetolabs: ความซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเอง ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และบริษัท (Integrity)
- อะไรคือสิ่งที่เราชอบในสังคมปัจจุบันใน Magnetolabs และยังอยากให้มันมีอยู่?
Magnetolabs: ความเป็นกันเองของคนในทีม ความขี้เล่น มีความ Creative สอดแทรกอยู่ในงานที่ทำ
- อะไรคือสิ่งที่เราภาคภูมิใจ และอยากจะทำให้คนภายนอกเห็น?
Magnetolabs: ผลงานของทีมงานที่ช่วยทำให้ธุรกิจของลูกค้าเติบโตได้จริง
- อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อว่าจะทำให้เราเติบโตต่อไปได้?
Magnetolabs: Growth Mindset ความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ อยากจะพัฒนาตัวเองทั้งในแง่ของ Professional และ Personal รวมถึงการมี Ownership ในสิ่งที่ทำ ที่จะผลักดันให้เราทำงานออกมาอย่างเต็มที่เสมอ
- อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมรวมให้เรามาอยู่รวมกัน?
Magnetolabs: การแชร์ความรู้ที่เรามีออกไป ไม่ว่าจะผ่านทางการเขียนบล็อก การทำ Public Speaking การสอนคอร์สออนไลน์ และออฟไลน์ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น และแน่นอนว่าจะทำให้เราดึงดูดคนที่ชอบเรียนรู้เหมือนๆ กันมาเป็นทีมเดียวกัน
จากการตอบคำถามด้านบนทั้งหมด ทำให้เราได้ Core Value ใหม่ของ Magnetolabs มา 4 ข้อ คือ Excellence, Learning, Sharing, Integrity
2. ทำความเข้าใจให้ตรงกัน
หลังจากที่เราได้ Core Value แล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการพูดคุยกันว่า Core Value ของบริษัท ที่เราคิดและเลือกกันมานี้ แต่ละคนมีความเข้าใจที่ตรงกันหรือไม่?
โดย Core Value ที่ดีต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าแต่ละข้อมีความหมายว่าอย่างไร เพื่อทำให้คนในบริษัทมีความเข้าใจที่ตรงกัน
Excellence คือ การมีความรับผิดชอบและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของในงานที่ทำ มุ่งมั่นจะทำให้งานออกมาดีที่สุดเสมอ
Learn คือ มีความใฝ่รู้และพัฒนาตัวเอง อยากทำตัวเองให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน เลือกใช้เวลาไปกับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น
Share คือ แชร์ความรู้ที่ตัวเองมีให้กับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ เพราะการแชร์นอกจากจะทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้แล้ว การแชร์ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่แชร์อีกด้วย
Integrity คือ มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และบริษัท มีความแฟร์ มีศีลธรรมประจำใจ ไม่ฉวยโอกาสหรือหาประโยชน์ใส่ตน เป็นคนดีที่คนอยากคบหาด้วย
โดยการพูดคุยถึงความหมายนี้ เราเริ่มที่ระดับ Management ก่อน เมื่อได้ Core Value พร้อมคำอธิบายที่ครบถ้วนและครอบคลุมแล้ว จึงนำไปแชร์ ไปอธิบายให้กับคนในบริษัททุกคนให้รับรู้และมีความเข้าใจตรงกัน
สำหรับ Magnetolabs เราถือโอกาสเอา Townhall Meeting 2019 ที่เราใช้ประกาศแผนปี 2019 เป็นการประกาศ Core Value ใหม่ของบริษัทพร้อมๆ กันเลย
3. วางแผนให้เกิดขึ้นจริง
การทำให้ Core Value เกิดขึ้นจริงนั้น ไม่ใช่แค่กำหนดขึ้นมา ประกาศ แล้วจบ แต่จะต้องมีการตอกย้ำไปเรื่อยๆ อย่างที่ Jeff Weiner, CEO of LinkedIn มักจะพูดอยู่เสมอว่า
“When you are tired of saying it, people are starting to hear it.”
“เมื่อคุณรู้สึกเริ่มเบื่อที่จะพูด เมื่อนั้นล่ะคนถึงจะเริ่มได้ยินกัน” (จากหนังสือ Measure What Matters)
นอกจากจะพูดตอกย้ำ เรื่องของแผนการจะต้องมี Action อะไรบางอย่างที่ช่วยส่งเสริม Culture และ Value ให้เกิดขึ้นจริงในองค์กร
ในปีนี้ Magnetolabs ได้นำเอา OKRs มาใช้อย่างจริงจัง (เราลองผิดลองถูกกับ OKRs มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้หวังว่าจะมาถูกทางมากขึ้นหลังจากไปเรียนรู้เพิ่มเติมมา) อ่านบทความ OKRs in Action! ใช้ OKRs ในองค์กรอย่างไรให้ได้ผล | Magnetolabs
เราตั้งสมมติฐานว่า “ถ้าคนในทีมเชื่อและมี Core Value อย่างที่เรากำหนดแล้ว จะทำให้บริษัทของเราเติบโตได้อย่างที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้”
สมมติฐานนี้ทำให้เราเกิดแนวคิดที่จะนำ Core Value มาผูกกับ OKRs เพื่อให้เกิดเป็น Action จริง เพราะไหนๆ ก็ทำทั้งสองอย่างแล้ว มันก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน
ตัวอย่างการผูกเอา Value และ OKR เข้าด้วยกันของ Magnetolabs
ในปีนี้สำหรับ Magnetolabs การที่ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้ดีหรือไม่นั้น ประกอบไปด้วย เรื่องการขาย (Sales), เรื่องการทำการตลาด (Marketing), เรื่องการพัฒนาและหาคนเจ๋งๆ มาร่วมทีม (People Development & Recruitement)
จากตัวอย่างด้านบน Objective ใน OKRs ที่เราตั้งเอาไว้ 4 ข้อ จะสอดคล้องกับ Business Function ที่เราวางเอาไว้ทั้งหมด หาก OKRs ไหนที่ไม่ได้ส่งเสริม Business Function ที่เราให้ความสำคัญ เราก็จะไม่ตั้ง OKRs นั้น
สุดท้าย Core Value เราถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่พอจะใช้บอกว่า Objective ที่ตั้งเอาไว้จะสำเร็จหรือไม่ ตัวอย่างเช่น OKRs “Hit Target Revenue” นั้นจะสำเร็จหรือไม่นั้น ก็ต้องอาศัย Value เรื่องของ Excellence และ Integrity เป็นต้น
การผูกเอา OKRs และ Core Value เอาไว้ด้วยกันนี้ ไม่ได้แปลว่าเราต้องรอให้มี Value ที่ว่าก่อนจึงจะสามารถทำ OKRs ได้ แต่แปลว่า “การจะทำ OKRs นั้นๆ ให้สำเร็จได้ เราควรจะต้องมี Value อะไร?” และ Value นี้จะค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อเรามุ่งมั่นจะทำ OKRs ให้สำเร็จ
Core Value และ Company Culture ในองค์กรที่ดี ต้องมองเห็นได้ และถูกนำเอาไปปฏิบัติจริง
Core Value และ Company Culture ที่บริษัทที่เราสร้างขึ้นมานี้ จะไม่เกิดประโยชน์เลยหากถูกเขียนเอาไว้เฉยๆ โดยไม่มีแนวทางในการนำเอาไปปฏิบัติหรือผูกเข้ากับเป้าหมายของบริษัทจริงๆ
การสร้าง Core Value ของ Mangetolabs ที่คุณได้อ่านในบทความนี้ คือการพยายามทำให้สิ่งที่ดูจับต้องได้ยากอย่างเรื่องของ Culture และ Core Value เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยการใช้การตั้งเป้าหมายและวัดผลอย่าง OKRs เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญ (เรามีการส่ง Notification ผ่าน Slack เพื่อเตือนให้ทุกคนเข้าไปดูและอัปเดต OKRs ของตัวเองทุกวัน) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้หลังจากที่ได้ลองมาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี หากบริษัทของคุณสนใจเรื่องนี้ก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในช่อง Comment ได้เลยนะคะ
ช่วงเปิดท้ายรับสมัครงาน
บทความนี้ ถูกเขียนมาเพื่อแชร์ประสบการณ์วิธีการที่ Magnetolabs ใช้ในการสร้าง Culture และ Core Value แต่หากคุณยังไม่ได้มีโอกาสที่จะประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าว แต่เป็นคนหนึ่งที่เชื่อ Value เรื่อง Excellence, Learn, Share, Integrity เหมือนกันกับพวกเรา และอยากอยู่ในองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราอยากได้คุณมาร่วมทีม คลิกเพื่อดูตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร