google-trend
SHARE

วิธีใช้ Google Trend หา Insights ทำ Content พร้อมตัวอย่าง

คุณเคยอยากรู้ไหมว่า ช่วงนี้คนส่วนใหญ่กำลังสนใจอะไรกัน? เพราะประเด็นความสนใจของคนบนโลกออนไลน์สามารถต่อยอดในการทำธุรกิจและคอนเทนต์ได้ดีแบบที่คนอาจจะคาดไม่ถึง ถ้าหากคุณอยากรู้ เรามีเครื่องมือที่ช่วยคลายข้อสงสัยให้คุณมาฝาก นั่นคือ Google Trend เครื่องมือดีๆ ที่หลายๆคนอาจมองข้าม Tools ตัวนี้สามารถช่วยให้เราได้ตามติดกระแสฮิต ประเด็นความสนใจของคนบนโลกออนไลน์ในช่วงเวลานั้น และสำรวจพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลบน Google ได้

การใช้งาน Google Trend

เริ่มต้นใช้งานไม่ยาก เพียงแค่เข้าเว็บไซต์  https://trends.google.com/trends/ ตั้งค่าเลือกประเทศที่อยากส่องเทรนด์ เพียงเท่านี้คุณจะสามารถรู้เทรนด์ของประเทศนั้นได้แล้ว ซึ่งสามารถเลือกระยะเวลาที่ต้องการได้ เช่น เทรนด์ประจำวัน ไปจนถึงเทรนด์ประจำปี เป็นต้น

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจจาก Google Trend

google-trend-features

  • Related Topics และ Related Queries เป็นหัวข้อย่อยเกี่ยวข้องกับ Topic ที่ติดเทรนด์ ซึ่งช่วยให้การวิเคราะห์ลงลึกมากขึ้น เช่น เทรนด์กีฬา จะพบว่าผู้คนค้นหาเกี่ยวกับฟุตบอล โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างทีมลิเวอร์พูลกับแมนยู จะเห็นได้จาก Related Queries ที่พบ รวมถึง Related Topics ลำดับที่ 1, 2, 4 และ 5 เกี่ยวข้องกับทีมลิเวอร์พูลทั้งสิ้น เป็นต้น
  • Rising คือ หัวข้อหรือคำค้นหาที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แสดงให้ถึงแนวโน้มการเติบโตของหัวข้อดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำ Content ประเภท Topical Content ได้ จากภาพจะเห็นว่า Topic ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ในลำดับที่ 1, 2, 4 และ 5 เป็นชื่อนักฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลทั้งสิ้น ซึ่งสามารถนำข้อมูลของนักฟุตบอลเหล่านี้มาทำ Topical Content เพื่อเกาะกระแสต่อไปได้
  • Subregion เป็นฟีเจอร์ที่แสดงผลให้เห็นว่าพื้นที่ไหนที่กำลังให้ความสนใจใน Topic ดังกล่าว ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำ Content เพื่อสนับสนุนการทำ Local SEO เพิ่มโอกาสขายสินค้าไปยังท้องถิ่นต่างๆ โดยจากภาพจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่กำลังสนใจเกี่ยวกับฟุตบอล คือ หนองบัวลำภู, นราธิวาส และน่าน (ลำดับที่ 3-5) ซึ่งสามารถทำ Content ให้ตอบรับกับพื้นที่ดังกล่าวได้ เช่น รวมร้านอาหารดูบอลลิเวอร์พูลปะทะแมนยู เป็นต้น
  • Compare ฟีเจอร์ที่ช่วยเปรียบเทียบคำค้นหาว่าคำไหนมีคนค้นหามากกว่า ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาตัดสินใจเลือก Keyword หรือ Topic เช่น เรากำลังต้องการรู้ว่าหน้าฝนนี้ รองเท้าแบบไหนขายดีหรือมีคนค้นหามากกว่ากันโดยเลือกเปรียบเทียบคำว่า “รองเท้ายาง” กับ “รองเท้าแตะ” เพื่อที่จะนำไปตั้งชื่อสินค้าบนเว็บไซต์ หรือเราอาจจะกำลังสงสัยว่าร่มหรือเสื้อกันฝนที่ขายดีกว่ากันในช่วงนี้ ก็สามารถใช้ฟีเจอร์นี้เปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจได้
  • Year in Search ฟีเจอร์สุดเจ๋งที่สรุปรวบรวมเทรนด์การค้นหายอดฮิตในแต่ละปีมาให้เราได้ดูแล้วที่นี่ https://trends.google.co.th/trends/yis/2020/TH/ เราสามารถนำไปใช้ในการติดตามเทรนด์ที่ติดอันดับอยู่หลายปีเพื่อนไปพัฒนาธุรกิจได้ด้วย

ตัวอย่างการวิเคราะห์ Trend ที่พบในกูเกิลเทรนด์

ประโยชน์ที่เราได้จาก Google Trend คือ การได้รู้ถึงความสนใจของผู้คน และนำไปใช้ในการสร้างประโยชน์ทางธุรกิจ ตั้งแต่การทำ Content ทั้ง Topical และ Evergreen ไปจนถึงการสร้างแคมเปญเพื่อเกาะกระแส

ถึงแม้จะรู้ว่าคนสนใจอะไร แต่หัวใจสำคัญของการนำ Tool นี้มาใช้ประโยชน์คือการวิเคราะห์ เพื่อผลักดันศักยภาพของ Keyword เทรนด์นั้นๆ ให้ได้มากที่สุด โดยแนวทางการวิเคราะห์สามารถทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับความถนัด ซึ่งเทรนด์ระยะสั้นและระยะยาวก็แตกต่างกัน วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ของแต่ละเทรนด์ก็แตกต่างกันออกไป

ยกตัวอย่างการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนในปี 2020 จาก Google Trend โดยจากการค้นหาพบว่า ผู้คนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้มากขึ้น โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมการค้นหาบน Google ระหว่างปี 2018-2020 พบว่าในปี 2020 มีสิ่งที่คนสนใจเพิ่มขึ้นมา 2 หมวดใหญ่คือ หมวดออนไลน์กับหมวดเรียน

เมื่อเจาะลึกถึงแต่ละ Keyword จึงพบว่ามีสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน คือ แนวโน้มการเปลี่ยนเแปลงพฤติกรรมของผู้ค้นหา ผู้คนต่างค้นหาสิ่งที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงต่อตัวเอง ทั้งในด้านทักษะพื้นฐาน หรือ ความรู้เบื้องต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ผู้คนต่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ที่เรียกว่า “New Normal”

โดยแนวโน้มพฤติกรรมการค้นหาของผู้คนในปี 2020 สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.การเปลี่ยนแปลงระยะสั้น (เริ่มค้นหาและหยุดค้นหาเมื่อหมดความต้องการ) เช่น วิธีทำเจลล้างมือหรือวิธีทำหน้ากากอนามัย เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่เป็นทักษะรอบตัว ผู้คนมักจะค้นหาการพัฒนาทักษะเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หรือตอบโจทย์ความต้องการขณะนั้น ซึ่งทักษะดังกล่าวจะมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ละคร หรือ สถานการณ์ในสังคม อย่างในปี 2020 เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นต้น

how-to-use-google-trend

ภาพ: การใช้ Google Trend

จากภาพจะเห็นได้ว่า Keyword: วิธีการทำเจลล้างมือ มีระดับการค้นหาสูงในช่วงที่โรคโควิด 19 แพร่ระบาดในช่วงแรก จากนั้นระดับการค้นหาจึงลดลงตามลำดับ แต่จะมีการค้นหาอย่างต่อเนื่องตาม ช่วงที่มีข่าวการแพร่ระบาดเป็นต้น

2.การเปลี่ยนแปลงระยะยาว (เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตในระยะยาว) เช่น เรียนออนไลน์ หรือ เปิดบัญชีออนไลน์ เป็นต้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงประเภทนี้ ไม่ใช่แค่เพียงพฤติกรรมของผู้คนเท่านั้นที่เป็นปัจจัยกระตุ้น แต่ยังมีการพัฒนาของเทคโนโลยีและภาคธุรกิจ ที่ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ซึ่งส่งผลต่ออนาคต เมื่อหลังวิกฤตโควิดสิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังคงอยู่

googel-trend-online-catagory

ภาพ: หมวดออนไลน์ หมวดใหม่ใน Google Trend ปี 2020

จากภาพแสดงให้เห็นว่า มีหลายหน่วยงานที่ปรับการให้บริการเพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหมวดนี้คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคต ทำให้ผู้คนสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งการเปิดบัญชีออนไลน์, การอบรมหรือต่อใบขับขี่ สิ่งเหล่านี้ในอดีตต้องทำแบบออฟไลน์เท่านั้น และเมื่อโควิดจากไป รูปแบบการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาให้สะดวกสบายและตอบสนองความต้องการมากยิ่งขึ้น

สำหรับธุรกิจเมื่อทราบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว ลำดับต่อมาคือการวิเคราะห์เทรนด์ว่า ผู้คนยังคงค้นหาอย่างต่อเนื่องไหม เช่น มีการค้นหาสม่ำเสมอตลอดทั้งปี หรือ มีแนวโน้มค้นหามากขึ้นทุกเดือนในช่วงสิ้นปี เป็นต้น และเมื่อทราบแนวโน้มแล้วจะสามารถนำสิ่งที่วิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ใช้ประโยชน์จาก Google Trend ได้อย่างไร

การได้ทราบข้อมูลว่าผู้คนส่วนใหญ่สนใจอะไร ถือเป็นโอกาสในการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการ แต่นอกจากการทำธุรกิจแล้ว Google Trend เป็นเครื่องมือที่สร้างประโยชน์มากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น
ทำ Inbound Marketing โดยนำ Keyword ไปใช้ในการทำ SEO เพิ่มโอกาสให้คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น หรือ นำไปสร้าง Content ลงใน Social Media เพื่อเกาะกระแส เป็นต้น โดยตัวอย่างการนำ Google Trend ไปใช้มีดังนี้

1. ทำ Content เกาะกระแส (Topical Content)

การใช้ Google Trend สามารถนำไปใช้เพื่อสำรวจความนิยมในปัจจุบัน เพื่อสร้าง Content เกาะไปตามกระแส (Topical Content) ซึ่งการเกาะกระแสจะช่วยเพิ่มยอด Traffic เข้ามาในเว็บไซต์ตาม Keyword ในกระแสนั้น หรือหากเป็นการทำใน Social Media ก็จะเพิ่มยอดการมีส่วนร่วม (Engagement) เป็นต้น

daily-search-trend

ภาพ: Daily Search Trend

จากภาพแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คนสนใจคือ การแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรลิเวอร์พูลกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ดังนั้นการทำ Content ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองสโมสรจึงมีโอกาสเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ชม

ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นร้านอาหาร วิธีการสร้าง Content เพื่อเกาะกระแสดังกล่าว อาจจะเป็น Content ที่เกี่ยวกับสองสโมสรหรือเกี่ยวกับการแข่งขัน เช่น ร้านนี้แฟนผี เมนูเด็ดวันนี้เป็ดย่าง หรือ สร้างแคมเปญเชิญชวนแฟนทั้งสองทีมมาเชียร์ฟุตบอลที่ร้าน ใครชนะรับเมนูฉลองชัย เป็นต้น

2. ต่ออายุ Content (Evergreen Content)

หนึ่งในปัญหาของ Content แบบ Evergreen (Content ที่ไม่มีวันหมดอายุ) คือ Keyword เปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะยังคงตอบสนองความต้องการอยู่ แต่ Keyword ที่คนใช้ค้นหานั้นเปลี่ยนไป ซึ่งนับวันจะยิ่งถูก Content จากเว็บไซต์อื่นกลบไปเรื่อยๆ จนทำให้อันดับของ Content ตกไปเรื่อยๆ

ดังนั้นการตรวจสอบ Keyword ที่ใช้อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ Content มีความสดใหม่ และยังติด SEO อยู่ตลอด โดยการปรับใช้ Google Trend เปรียบเทียบว่า Keyword ที่ใช้มี Keyword ใกล้เคียงที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต ทั้งนี้การปรับ Content ควรเลือกปรับบทความที่มีเนื้อหาด้านในใกล้เคียงกัน

google-trend-compare-keyword

ภาพ: การใช้ Google Trend เปรียบเทียบ Keyword (Compare Keyword)

จากภาพจะเห็นได้ว่า Keyword “Minimal” เคยเป็นที่นิยม แต่ในปัจจุบัน Keyword “มินิมอล” มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากต้องการต่ออายุให้อยู่ได้นานมากขึ้น สามารถทำได้เพียงแค่เปลี่ยน Keyword จากคำว่า “Minimal” มาเป็น “มินิมอล” เป็นต้น

3. ทำ Local SEO

สำหรับการทำ Local SEO คือ การสร้างเนื้อหาเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่นั้นๆ เช่น จังหวัดหรืออำเภอ เพื่อดึง Traffic จากคนในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เพิ่มโอกาสปิดการขายได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยการใช้ Google Trend ทำ Local SEO สามารถทำได้ผ่านฟีเจอร์ Subregion ซึ่งจะแสดงผลให้เห็นว่าจังหวัดไหน มีความสนใจใน Keyword ดังกล่าว และเมื่อรู้ Target ที่สนใจแล้ว ก็สามารถทำ Content ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้

keyword-example

จากตัวอย่างใน Keyword “บิ๊กไบค์” จะเห็นได้ว่าผู้คนในจังหวัดชัยนาท ให้ความสนใจเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ ดังนั้นหากคุณเป็นเจ้าของร้านขายมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ที่มีบริการเดลิเวอรี่ ก็สามารถทำ Content เกี่ยวกับบิ๊กไบค์และจังหวัดชัยนาทได้ เช่น 5 โรงเรียนสอนขับบิ๊กไบค์ในจังหวัดชัยนาท เป็นต้น

4. ทำ Research สำหรับธุรกิจเพื่อวางกลยุทธ์

จากข้อมูลในส่วนต่างๆ ที่กูเกิลเทรนด์แสดงผลออกมาให้เรา ไม่ว่าจะเป็นจำนวนความถี่ในการค้นหา ช่วงที่เวลาที่คนค้นหา คำค้นหาในประเทศและพื้นที่ต่างๆ คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับ Keyword และการเปรียบเทียบ Keyword ที่คนค้นหา เราสามารถหยิบข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการทำ Research ทิศทางการทำธุรกิจ แผนการตลาด รวมถึงทิศทางการทำคอนเทนต์สำหรับธุรกิจได้ ทำให้เราสามารถวาง Content Strategy ได้ดีขึ้น

เริ่มจากการหาเทรนด์ฮิตที่ติดกระแสในแต่ละปีจาก Year in Search

Google Trend Search in year Feature
Search In year feature

 

ปี 2020 – 2021 หน้ากากอนามัยกำลังเป็นที่ต้องการ  เปรียบเทียบคำค้นหาที่คนเสิร์ชเยอะ เพื่อเลือกใช้ Keyword ที่ดีที่สุดและนำ Keyword ไปตั้งชื่อสินค้า หรือ Research ต่อ

Feature Compare in Google trend
เปรียบเทียบคำค้นหาที่คนค้นบ่อยที่สุด

 

Related queries ทำให้เราได้ Topic ดีสำหรับการนำไปทำคอนเทนต์ต่อ ทำโพสต์หรือบทความเกี่ยวกับ “การใส่แมสที่ถูกต้อง” ไปเลย

Related queries Google trends
การนำฟีเจอร์ของ Google Trends หา Topic ที่ได้รับความสนใจ 

 

กรณีที่คุณมีเพจ Facebook คุณสามารถนำผลลัพธ์การค้นหาในพื้นที่ต่างๆ ไปตั้งเป็น Location ในการยิงแอดโฆษณาได้อีกด้วย

Location
นำ Location ที่ปรากฏมาใช้ประโยชน์

เห็นไหมว่าการเครื่องมือตัวนี้สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจของคุณได้หลากหลายด้านเลยทีเดียว

สรุป

กูเกิลเทรนด์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือดีๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อีกมาก ทั้งในการวางกลยุทธ์ของธุรกิจให้ตอบรับกับเทรนด์ หรือการวางแผนทำ Content เพื่อตอบโจทย์การตลาดออนไลน์ ที่ไม่ใช่แค่ SEO แต่รวมไปถึงบน Social Media

หากคุณกำลังสนใจในการตลาดออนไลน์ ตั้งแต่การวางแผนและนำเครื่องมือมาใช้วิเคราะห์ เพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดโดยใช้หลักการ Inbound Marketing สามารถปรึกษาเราได้ที่ ลิงก์นี้ เลยครับ

New call-to-action

Author

Peranut

"Passionate Learner"
"Passionate Learner"

Related Blog

Leave Your Comment