internship-content-writer
SHARE

ประสบการณ์ฝึกงาน Content Writer ตามติดชีวิตนักเขียนหน้าใหม่ พบเจออะไรบ้างในการฝึกงานครั้งนี้

สำหรับหลายๆ คนแล้ว การฝึกงาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาทุกคนจะต้องหาที่ฝึกงานในฐานะวิชาหนึ่งของเทอมนั้นๆ จึงมีคนจำนวนมากรีบหาที่ฝึกงานตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้สบายเร็วๆ

แต่ผมรู้สึกเห็นต่างอยู่ครับ เพราะการฝึกงานอาจเป็นตัวกำหนดอนาคตการทำงานได้เลย ผมจึงใช้เวลาคิด พิจารณา ถึงสิ่งที่อยากทำ และพยายามหาสถานที่ฝึกงานให้จี้จุดที่สุด

ผมใช้เวลาตกตะกอนกับตัวเอง ตั้งแต่เด็ก ผมมีความฝันอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตคอนเทนต์ดีๆ เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับผู้คน ให้ความรู้แก่พวกเขาเพื่อเอาไปแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแนวความคิด ความรู้เฉพาะทาง วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น และเอาความรู้ไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

ผมคิดว่า เหตุผลที่ผมใฝ่ฝันแบบนั้น เป็นเพราะผมชอบเสพคอนเทนต์ดีๆ หลากหลายรูปแบบ อย่างเมื่อก่อนผมจะอ่านเนื้อหาสาระจากหนังสือ นิตยสาร และดูรายการทีวี ภายหลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ก็หันมาฟังพอดแคสต์ ติดตามช่องที่น่าสนใจ อ่านข่าว และอ่านบล็อกบนเว็บไซต์คุณภาพ

เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมสั้นๆ ที่อยากหาบทความเติมเต็มความรู้มาอ่าน ผมก็อ่านบทความจากสำนักต่างๆ มากมาย หัวข้อที่ตอนนั้นชอบอ่านก็จะเป็นเรื่องงานอดิเรกซะส่วนมาก เช่น เทคนิคการเขียนกระชากใจคน สอนวาดรูปจิบิหัวโต ยิงหัวคนในเกมยังไงให้โดนทุกนัด เป็นต้น

จากบทความมากมาย มีบทความหนึ่งที่กระตุกต่อมความสนใจของผมได้ เป็นบทความเกี่ยวกับการสอนสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress หลังจากที่ผมอ่านจบ ผมเกิดความอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองในทันที ด้วยข้อดีที่บทความพูดถึงคือ “เว็บไซต์คือบ้านอันอบอุ่น” ผมชอบคอนเซปต์ข้อนี้มากๆ

การเจอบทความดังกล่าว ทำให้ผมสนใจศึกษาเรื่องอื่นๆ ที่มีบนเว็บไซต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทรนด์การตลาด แนวคิดการดีไซน์ เทคโนโลยีดิจิทัล และความรู้แขนงอื่นๆ ที่เขียนอยู่บนเว็บไซต์ (จากการเชื่อมโยงลิงก์บนเว็บไซต์ไปยังหน้าความรู้อื่นๆ)

ชื่อของเว็บไซต์นั้นคือ Content Shifu ครับ

content-shifu

Content Shifu เป็นหนึ่งในไม่กี่สำนักที่นำเสนอคอนเทนต์คุณภาพ หลายๆ บทความคือครบถ้วน จบในบทความเดียว ให้ความรู้สึกเหมือนเขียนโดยจอมยุทธมากความสามารถ มีแนวทางให้ไปทำตามได้เสมอ ไม่ต้องไปอ่านที่อื่นเพิ่มให้วุ่นวาย และไม่ใช่คอนเทนต์ประเภท Click Bait ที่มีอยู่อย่างเกลื่อนกราดบนโลกอินเทอร์เน็ต (ท่องเว็บอยู่นี่เจอประจำ)

และในวันนี้ วันที่ผมได้ฝึกงานกับบริษัท Content Shifu ด้านหนึ่งก็รู้สึกปลื้มปริ่ม ที่ได้ทำงานในบริษัทที่ตนเองชื่นชอบ แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกกดดัน กลัวว่าตนเองจะทำงานออกมาได้ไม่ดีกับมาตรฐานของบริษัท

บทความนี้ เป็นการรีวิวประสบการณ์ฝึกงาน โดยรวบรวมสิ่งที่ผมได้ทำงานมาทั้งหมด ในฐานะของนักศึกษาฝึกงาน Content Writer เพื่อให้น้องๆ ที่มีความสนใจในสายงาน Digital Content Writer และ Digital Marketing ได้เห็นเป็นตัวอย่าง จากสิ่งที่ผมได้รับจากการฝึกงานครั้งนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าตนจะฝึกงานที่ไหนดี

Disclosure: Content Shifu เป็นพาร์ทเนอร์กับ Magnetolabs เราทำงานร่วมกันเสมือนเป็นพี่น้อง เหมือนฝึกครั้งเดียวได้ 2 บริษัทเลยล่ะ คุ้มมากๆ

group-photo-intern

วันแรก เรียนรู้วิธีทำงาน และเข้าร่วมโปรเจกต์ใหญ่

วันที่ 13 เมษายน 2020 วันปีใหม่ไทยที่ทุกคนหวงแหน เนื่องจากเป็นวันสำคัญ ที่ทุกปีจะต้องหยุดเพื่อไปไหว้พระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เยี่ยมเยียนคุณย่าคุณยายที่นานทีปีหนจะได้กลับไปพบท่านซักครั้ง แต่เนื่องจากปีนี้มีวิกฤติการ Covid-19 อันโจษจัน ทางการจึงได้ประกาศงดวันหยุดสงกรานต์ในปีนี้ไปก่อน

พอปีนี้ไม่มีหยุดสงกรานต์ และผมได้เข้ามาฝึกงานช่วงนี้พอดี ทำให้วันที่ 13 เป็นประสบการณ์ฝึกงานวันแรก ของการฝึกงาน content writer ของผมนั่นเองครับ โดยส่วนตัวรู้สึกโชคดีมากๆ เพราะจำง่ายดี

…วันนี้ผมได้พบกับพี่ๆ ทั้งหมด 3 คน

คนแรกคือพี่บูม เป็น HR (Human Resource) ดูแลประสานงานกับจอมยุทธทั้งในและนอก พี่บูมใจดีและเป็นกันเองกับเด็กฝึกงานอย่างผมจนถึงที่สุด เวลามีการรวมตัวกันภายในก๊ก เธอจะเป็นดาวเด่น คอยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กลุ่มอยู่ตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่ง เป็นการประชุมประจำไตรมาส ทุกคนหน้าดำคร่ำเคร่งกับเนื้อหาการประชุม แต่พอพี่บูมออกมาพูด บรรยากาศในโรงเตี๊ยมก็ผ่อนคลายลง เกิดรอยยิ้มทั่วใบหน้าของจอมยุทธทุกผู้นาม ทุกคนต่างโบกไม้โบกมือ ส่งเสียงเฮฮารับมุกกันอย่างมีความสุข

คนที่สองคือพี่อร เป็น Content Director จอมยุทธ์ผู้จัดการระบบต่างๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น (หากคุณเป็นแฟนตัวยงของ Content Shifu คุณจะรู้จักพี่อรในชื่อ Orn Smith ครับ) พี่อรเป็นคนที่เก่งมากๆ พี่ๆ ในทีม บอกกับผมว่า พี่อรเปรียบเสมือนกุนซือของสำนัก สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เวลาเจอปัญหาอะไร ก็สามารถหาทางแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

คนที่สามคือพี่ต้า Digital Content Writer เป็นจอมยุทธผู้ปราดเปลื่อง มีความสามารถในการเขียน ปรับปรุง และตรวจสอบคอนเทนต์ทั้งหมดที่เผยแพร่ในนามของก๊กชิฝุ (ชื่อที่ใช้บนเว็บ Content Shifu คือ Savaris ครับ) พี่ต้าทำงานเก่งมาก และมีน้ำใจกับทุกคน มักเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่นๆ อยู่เสมอ ทำให้เป็นที่รักของจอมยุทธ์ในยุทธจักร มีผู้คนมาพูดคุยปรึกษาด้วยอยู่บ่อยๆ

เริ่มต้นช่วงเช้าของวัน ผมได้รับคำแนะนำ และแนวทางการทำงานเบื้องต้นจากพี่บูม (พูดคุยผ่าน Google MEET) ภายหลังพี่อรเข้ามาเสริม โดยให้ผม Download และ Access เข้าใช้งานโปรแกรมที่ใช้งานกันในองค์กร ได้แก่ Slack, ClickUp และ WordPress

3-basic-programs

Slack ใช้สื่อสารกับคนในองค์กร ทุกคนต้องเปิดโปรแกรมนี้ในเวลางาน เพื่อให้สามารถติดต่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็ว

ClickUp ใช้บริหารจัดการภาพรวมงาน ทุกคนต้องเข้ามาอัปเดตงานที่ตนเองทำในโปรแกรมนี้

WordPress เป็นหลังบ้านของเว็บไซต์ ใช้สำหรับลงบทความ และเนื้อหาอื่นๆ บนเว็บไซต์

ประสบการณ์ฝึกงาน Content Writer ของผมในเช้านี้ หมดไปกับการเข้าใช้งานโปรแกรมทั้ง 3 ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกันถึงเรื่องงานในตอนบ่าย ซึ่งผมจะได้ Meeting ร่วมกันกับพี่อรและพี่ต้า โดยจะเป็นการพูดคุยถึงรายละเอียดของโปรเจกต์หนึ่ง ที่ผมจะได้ร่วมทำในตลอดเดือนนี้

โปรเจกต์ที่ว่า คือการปรับปรุงคอนเทนต์เก่าๆ บนเว็บไซต์ พัฒนาให้หน้าเว็บต่างๆ ได้รับอันดับดีขึ้นจากการจัดอันดับของ Google ผ่านการปรับปรุงบทความเชิง SEO

SEO Audit Project โครงการปัดฝุ่นคลังแสงแห่งสำนักชิฝุ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บ Content Shifu มีการปรับปรุงเว็บไซต์ขนานใหญ่ เพื่อยกระดับสำนักให้ดีขึ้นในทุกมิติ ทั้งในด้านของ Function, UX, UI และอื่นๆ

SEO Audit Project เป็นการปรับปรุงเว็บไซต์ในด้านของ Content โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ พัฒนาแต่ละ Keyword ให้ติดหน้า 1 ของการจัดอันดับ Google ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ในการทำ SEO

แม้ผมจะพอรู้จัก SEO มาก่อนบ้าง แต่ต้องยอมรับตามตรงว่า ผมไม่เคยทำงานสายนี้อย่างจริงจัง ไม่เคยเขียนบทความโดยเน้นให้ติดอันดับบนกูเกิ้ลเลยซักครั้ง

โชคดีที่พี่อรให้ผมลงเรียนคอร์สออนไลน์ SEO Keyword Research เป็นคอร์สพื้นฐานการทำ SEO สำหรับนักเขียน ใช้เป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ เพราะการจะปรับปรุงบทความตามหลัก SEO ได้ อันดับแรกก็ต้องเข้าใจหลักการ SEO เบื้องต้นก่อน (คอร์สนี้สอนให้รู้ว่า Keyword ที่ดีมีลักษณะเป็นยังไง จะหาคีย์เวิร์ดที่ดีได้ยังไง และเทคนิคการทำ SEO ให้กับบทความ)

อนึ่ง ในตอนแรกนั้น ผมไม่มีความมั่นใจกับงานนี้เลย เพราะรู้สึกกังวลว่าจะไปทำให้บทความที่ดีอยู่แล้ว ต้องเสียหายด้วยน้ำมือของตัวเอง แต่พอมาคิดดูดีๆ แล้ว พี่เขามอบหมายให้เราทำ ก็คงน่าจะเชื่อใจเราในระดับหนึ่ง และหากผิดพลาดยังไง ก็ยังคงมีจอมยุทธ์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล และตรวจสอบงานให้อยู่ตลอด

และพี่อรได้เล่าให้ผมฟังด้วยว่า นอกจากผมแล้ว ยังเคยมีรุ่นพี่ที่เคยมาฝึกงานในช่วงคล้ายๆ กันเลย คือกำลังปรับปรุงโครงสร้างเว็บไซต์ และก็ได้มาทำในส่วนของการปรับปรุงคอนเทนต์บนเว็บเหมือนๆ กันด้วย พี่เขาชื่อพล แม้เราจะไม่เคยเจอกัน แต่ผมรู้สึกดีที่ได้มาเป็นเด็กฝึกงานต่อจากพี่พลจริงๆ ครับ ผมสัญญาว่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ไม่ให้น้อยหน้าพี่พลเลย

SEO Audit Project มีแผนการทำงานอยู่ทั้งหมด 4 สัปดาห์

สัปดาห์ที่ 1: จัดหมวดหมู่ให้กับคอนเทนต์ทั้งหมด (Category)

Content Shifu ติดปัญหาว่าบทความใหม่หลายๆ ตัว ไม่มี Category ที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้คิด Category ให้กว้าง และครอบคลุมกับเนื้อหาที่จะต่อยอด เช่น “Blogging” ที่มีความหมายแค่เขียนบล็อกเท่านั้น หรือ “บทความแนะนำ SEO” ที่เจาะจงแค่เรื่อง SEO เพียงอย่างเดียว (Category คือหมวดหมู่ของบทความต่างๆ)

ทีม Content ของ Content Shifu จึงมีมติว่าจะปรับปรุง Category ของเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมด ปรับ Category บางอันให้ครอบคลุมขึ้น เพิ่ม Category ที่ยังไม่เคยมี และลบ Category บางอันที่มีลักษณะซ้ำซ้อน

หน้าที่ของผมคือ อ่านชื่อบทความ กับเนื้อหาเกริ่นเล็กน้อย เพื่อเช็คว่าบทความนั้นๆ เหมาะสมที่จะอยู่ใน Category ใด

ความยากของงานนี้คือ “ความเยอะ” ใช่ครับ Content Shifu มีบทความเยอะมาก (200+ ตัว) โชคดีที่บางบทความผมเคยอ่านมาบ้างแล้ว แต่ก็น่าจะไม่ถึง 30% ของทั้งหมด ทำให้กระบวนการนี้ค่อนข้างกินเวลานานถึง 1 สัปดาห์

และหลังจากที่รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์ ต่อไปก็จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์ ว่าแต่ละบทความมีศักยภาพเบอร์ไหน เหมาะสมจะเอามาทำ SEO Audit หรือเปล่า ซึ่งเช็คได้จากเกณฑ์การเลือกที่จะถูกพูดถึงในสัปดาห์ต่อไปครับ

สัปดาห์ที่ 2: เลือกทำ SEO Audit ผ่านเกณฑ์วิเคราะห์

ขอเล่าเท้าความก่อนว่า ในการทำงาน ทุกๆ เช้าจะมี Meeting เพื่อคุยรวมกับทุกคนในบริษัท ว่าแต่ละคนจะทำงานอะไรบ้างในวันนั้น และทุกคนต้องเขียนสิ่งที่จะทำลงใน Slack ด้วย ทำให้จะเห็นเลยว่าแต่ละวัน ใครมีงานที่ต้องแบกรับมากน้อยเพียงใด

และตอนจบของแต่ละวัน ทุกคนก็จะมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง ว่าได้ทำงานได้ตามเป้าไว้มากน้อยแค่ไหน อะไรที่ทำเสร็จแล้ว ยังไม่เสร็จ หรือต้องรอให้ผ่านพ้นไปก่อน ยกยอดไปทำวันถัดๆ ไป

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พี่ๆ ทุกคนมีงานที่ต้องทำอยู่มากมาย จากที่จำได้คือมีงานไม่ต่ำกว่า 5-10 อย่าง ขณะที่ผมเองสามารถ List งานที่ต้องทำได้เพียง 1-2 หัวข้อเท่านั้น ทำให้ผมรู้สึกได้ว่าพี่ๆ ทุกคนที่นี่มีศักยภาพการทำงานที่เพียบพร้อมเป็นอย่างมาก และผมเองก็ต้องพัฒนาต่อให้มากด้วยเช่นกัน

ในสัปดาห์ที่ 2 นี้ ก็ยังคงมีแนวปฏิบัติที่คล้ายๆ เดิม คือการง่วนกับบทความเก่าๆ บนเว็บไซต์

ผมมีนัดประชุมเพิ่มเติมกับพี่อรและพี่ต้าอีกครั้ง ในการคุยกันครั้งนี้เป็นไปได้อย่างราบรื่น มีการตรวจเช็คความถูกต้องของการเลือกบทความลง Category ที่ผมได้ทำในสัปดาห์ที่ผ่านมา และวางแผนเลือกคอนเทนต์ที่จะปรับปรุงต่อไป

ซึ่งในการเลือกบทความมาปรับปรุง หลักๆ คือต้องการปรับปรุงบทความที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถต่อสู้ในสนามรบแห่ง Search Engine ต่อไปได้ โดยใช้เกณฑ์ทั้งหมด 4 เกณฑ์ ได้แก่

  1. Goal Conversion Rate: คำว่า Conversion หมายถึงเป้าหมายที่ผู้สร้างคอนเทนต์ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คอนเทนต์บนเว็บไซต์จะมี Conversion คือให้คนเข้ามาอ่านบทความนั่นเอง (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป) ดังนั้น Goal Conversion Rate คืออันดับสูงสุดของทุกบทความบนเว็บไซต์ที่ทำผลงานได้ดี โดยเราจะเอามาใช้ 30 ตัว
  2. Traffic: คือยอดของคนเข้าบทความจากแหล่งต่างๆ โดยเราจะเลือกมา 30 ตัวที่มี Traffic สูงสุด
  3. Referral Traffic: คือยอดทราฟฟิคที่เข้ามาผ่านแหล่งอื่นๆ เช่น Facebook, Website, Email เป็นต้น ซึ่งเราจะหยิบมาพิจารณา 30 ตัว
  4. Top Loser คืออันดับที่ตกสูงสุดของบทความ เช่น บทความเคยติดหน้า 1 บน Google ผ่านไป 2 ปี อันดับตกลงไปอยู่หน้า 3 (สมมติ) ซึ่งเราจะเลือกบทความลักษณะนี้มา 30 ตัว

เราสามารถเช็คเกณฑ์เหล่านี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลหลังบ้านผ่านโปรแกรม 3 ตัว ได้แก่ Google Search Console, SERP Watcher และ Data Box ข้อมูลเหล่านี้ใช้บอกว่าบทความใดที่ยอดคนอ่านเยอะ ติดอันดับบนกูเกิ้ล หรือเป็นบทความที่ไม่ติดอันดับเลยครับ

3-analyzed-programs

ในส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูล พี่ๆ ทีมงานได้ทำมาเรียบร้อยแล้ว ผมเพียงนำมาจัดทำเป็น Checklist เพื่อดูว่าบทความไหนผ่านเกณฑ์ใดบ้าง ซึ่งมีเกณฑ์วัดอยู่ 4 อันด้วยกัน บทความไหนเข้าเกณฑ์แม้เพียง 1 ข้อ ก็จะถูกนำมาเป็นหนึ่งใน Stock บทความที่จะต้องปรับปรุงทันที

จบสัปดาห์นี้ ก็ได้รู้แล้วว่าพวกเราต้องปรับปรุงบทความทั้งหมด 78 ตัว

สัปดาห์ที่ 3: ทำ Checklist ว่าจะปรับปรุงส่วนไหนบ้าง

ในช่วงประสบการณ์ฝึกงานของสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและทีมงานไล่เช็คบทความไปบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงลึกถึงดีเทลละเอียดมากนัก อย่างสัปดาห์แรกที่อ่านบทความแบบคร่าวๆ เพื่อพิจารณานำบทความลง Category ผ่านมาสัปดาห์ที่ 2 ก็เลือกพิจารณาบทความไหนน่าปรับปรุง ผ่านข้อมูลวิเคราะห์จากโปรแกรมเฉพาะทาง

สัปดาห์ที่ 3 นี้จะมีการเช็คเนื้อหาอย่างละเอียดมากขึ้น ทำ Checklist ว่าแต่ละบทความมีจุดบกพร่องตรงไหน หัวเรื่องไม่โดน (Title) คีย์เวิร์ดไม่ได้ (Keyword) ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ (Alt Text) มีคีย์เวิร์ดในบทความน้อยหรือมากเกินไป (Keyword Density) ลิงก์เสียหรือไม่มีลิงก์ให้คนกด (Internal Link) และอื่นๆ (อยากเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ลองทำความรู้จักกับ SEO ดูครับ)

กระบวนการตรงนี้ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ผมและทีมงานใช้เวลาทำค่อนข้างนาน เนื่องจากมีบทความให้เช็คมากถึง 78 ตัว และทุกบทความบนเว็บ Content Shifu ถูกเขียนขึ้นในลักษณะ Long Form คือแน่น ครบ จบในบทความเดียว การเช็คเนื้อหา และตรวจสอบจุดผิดจึงใช้เวลานานเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

seo-audit-checklist

หลังจากที่เช็คจนครบแล้ว พี่ต้าจะมานั่งตัดสินใจว่าแต่ละบทความ สมควรให้ใครเป็นคนปรับปรุงบ้าง ซึ่งมีแนวทางการเลือกดังนี้

  • มอบหมายให้นักเขียนเป็นคนปรับปรุง
  • พี่ต้ารับทำไว้เอง
  • มอบหมายให้ไอซ์/ผม (นักศึกษาฝึกงาน) ทำ

หากบทความนั้นๆ ต้องปรับปรุงในเชิงเนื้อหาเยอะ และสามารถติดต่อนักเขียนบทความดังกล่าวได้ พี่ต้าจะไปติดต่อ และเอารายละเอียดที่ต้องปรับปรุงไปให้

แต่ถ้าไม่สามารถติดต่อนักเขียนได้ และบทความต้องปรับปรุงเนื้อหาเยอะ พี่ต้าจะรับทำไว้เอง

ส่วนบทความที่ปรับปรุงได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง จะมอบหมายให้นักศึกษาฝึกงานเช่นผมทำครับ

เอาล่ะ! เมื่อสิ้นสัปดาห์ โปรเจกต์นี้ก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้วละครับ เหลือเพียงนำสิ่งที่ปรับแก้ลง Docs ไปแก้ไขบนเว็บไซต์จริงๆ กับเก็บรายละเอียดเพิ่มเติม บทความบนหน้าเว็บก็จะถูกปรับแก้พร้อมการ Launch ของเว็บไซต์ใหม่แล้วละครับ

สัปดาห์ที่ 4: ปรับปรุงคอนเทนต์บนเว็บจริง

น่าตื่นเต้นเหลือเกิน สัปดาห์นี้จะได้เอาสิ่งที่ทำไปลงเว็บจริงแล้ว

และในการฝึกงาน content writer ของสัปดาห์นี้ โปรแกรม WordPress จะมีบทบาทค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นโปรแกรมสำหรับจัดการข้อมูลหลังบ้านของเว็บไซต์ ที่ผมจะได้เข้าไปใช้งาน ตั้งแต่การเปลี่ยน Category ให้เป็นไปตามที่คิดไว้ ปรับเปลี่ยนเนื้อหาตามที่ทำไว้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ

และเพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ผมจะตรวจเช็คอีกรอบก่อน Update บทความนั้นๆ

หลังสิ้นสุดสัปดาห์นี้ SEO Audit Project จะถือว่าเสร็จสิ้น ปิดตัวลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ Content Shifu จะยังมีการปรับปรุงบทความเก่าอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เพราะแม้จะเป็นบทความเก่า แต่คนที่เข้ามาอ่านเขาไม่ได้เก่าตามด้วย พวกเขายังคงต้องการคอนเทนต์ที่นำไปใช้งานได้ หากบทความของเรา Out date ไม่สามารถใช้ได้จริงแล้ว คนที่เข้ามาอ่านก็จะเสียเวลาฟรี

และหลังจากสัปดาห์นี้ ทางบริษัทได้มีนโยบายเริ่มให้พนักงานกลับเข้าไปทำงานที่ Office แล้ว โดยทีม Content Shifu จะได้เข้าไปทำงานในวันพฤหัส-ศุกร์ (จันทร์-พุธ ยังคง Work From Home อยู่) ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นหน้าค่าตาจริงๆ ของพี่ๆ ทุกคนมากๆ เลยล่ะครับ

อยากทำเพจใช่ไหม? เดี๋ยวพี่ให้ลองคิดคอนเทนต์ลง Facebook

ในขณะที่งานปรับปรุงเว็บไซต์เริ่มเบาลงแล้ว พี่เลี้ยงอยากให้ผมได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง เพราะอยากให้ผมได้รับประสบการณ์ฝึกงานสุดพิเศษ ลับคมเขี้ยว ฝึกปรือฝีมือ ให้สามารถทำคอนเทนต์ได้หลากหลายแนว ผมจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับทีม Marketing ครับ

พี่ฝ้าย หนึ่งในจอมยุทธ์ของ Content Shifu ผู้มีความชำนาญในกระบวนท่าของ Digital Marketing พี่ฝ้ายเก่งในการฟูมฟักเหล่าสาวกให้ชื่นชอบแบรนด์เป็นอย่างมาก ทุกๆ คำที่เธอเขียน ทุกๆ แคมเปญการตลาดที่เธอจัด มักดึงดูดให้คนเข้ามามีปฎิสัมพันธ์เป็นจำนวนมาก

พี่ฝ้ายรับผมเข้าเป็นศิษย์ด้วยความเต็มใจ ผมพยายามเรียนรู้กระบวนท่า ที่เหล่าบรรพบุรุษของ Content Shifu สืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน จนได้เคล็ดการสร้างคอนเทนต์ลง Facebook ได้ทั้งหมดดังนี้

Brand Character การตลาดที่ดีต้องมีผู้เล่าเรื่อง

สิ่งที่เขียนลงไปต้องมีการคุม Character ให้เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อสร้างความน่าจดจำของแบรนด์แก่ผู้คนที่ตามเสพงาน อย่างของ Content Shifu จะมีลักษณะของความเป็นหญิงสาวที่มั่นใจในตัวเอง หลงรักในความรู้ใหม่ๆ หากเทียบเป็นคน Content Shifu จะมีลักษณะแบบ Emma Watson ครับ

content-shifu

โดยพี่ฝ้ายแนะนำเพิ่มเติม ว่าหากอยากหาอ่านวิธีการเขียนที่คุม Character ได้ดี ลองศึกษาจากเพจ Mango Zero, Skooldio, RainMaker เพราะเพจเหล่านี้เขียนเนื้อหาความรู้ที่ดูสนุกสนาน ขณะเดียวกันก็มีความดูดี ดูมั่นใจ ซึ่งสื่อเหล่านี้มีวิธีสื่อสารที่ใช้ได้ หลายๆ คอนเทนต์รักษา Mood&Tone และ Brand Voice ได้อย่างดี ในขณะที่ก็ยังสามารถสื่อสารกับลูกเพจได้ดีอีกด้วย

Brand Character เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำคอนเทนต์ลง Facebook เนื่องจากเวลาคนที่กดไลก์ กดติดตามเพจเรา เพราะเขาอยากอ่านคอนเทนต์ที่ดีๆ แบบเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช้ภาษา หรือ Visual เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้สับสน ว่าเอ๊ะ… เรากำลังอ่านเพจอะไรอยู่นะ

ไอเดียยืนหนึ่ง

ปัจจุบันเฟสบุ๊กมีเพจผุดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด ดังนั้นไอเดียที่น่าสนใจ จะสามารถดึงดูดความสนใจผู้อ่านได้ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เพจเติบโต

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ Content Shifu จะทำคอนเทนต์ “กราฟิกที่ดีเป็นยังไง” โดยทำรูปกราฟิกรูปหนึ่งออกมาให้มีลักษณะที่ไม่ดี แล้วลงไปเพื่อให้คนมาคอมเมนต์ว่าตรงไหนห่วยบ้าง ก่อนที่จะเฉลยโดยนำแคปชั่นที่คิดไว้แล้วมาใส่ลงกล่องคอมเมนต์

ไอเดียนี้ทำให้เกิดยอด Engagement เยอะมาก เนื่องจากเป็นโพสต์ที่กระตุกต่อมความอยากมีส่วนร่วมของผู้ติดตามได้ดี เพราะคนที่ทำงานด้านกราฟิกแทบจะทุกคน พอเห็นอะไรไม่เข้าตาหน่อยก็เกิดอาการคันปากอยากระบายแล้วละครับ เพจเราก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้มาทำคอนเทนต์นั่นเอง

เข้าใจเหตุผลที่คนกดแชร์

พี่ฝ้ายบอกว่าคนจะกดแชร์ เพราะเขาเห็นว่าคอนเทนต์เรามีประโยชน์ โดยอาจจะกดแชร์เพื่อ

  1. เก็บไว้ใช้งานในอนาคต หรือ
  2. ต้องการให้คนรู้จักรู้ว่ากำลังความสนใจอะไรอยู่ หรือจะแชร์เพราะรู้สึกเท่ อยากตกแต่งไทม์ไลน์เหมือนเราเล่น Instragram ก็เป็นได้ครับ

Content Shifu เคยแชร์คอนเทนต์เกี่ยวกับการตั้งค่าขนาดรูปที่เหมาะสมบนแพลตฟอร์ม Facebook คอนเทนต์ตัวนั้นได้รับผลตอบรับดีมาก เนื่องจากมีเนื้อหาตอบโจทย์ข้อแรก คือคนกดแชร์เพราะจะได้เก็บเอาไว้ใช้เป็น Reference ในการทำงาน

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือคอนเทนต์อธิบาย Brand Character ที่มักดึงดูดผู้คน 12 แบบ ที่มีรูปกราฟิกเป็นแท่งพลังเท่ๆ ก็มีคนกดแชร์เป็นจำนวนมากเช่นกัน ก็อาจเป็นได้ทั้งเหตุผลข้อหนึ่งและข้อสองก็ได้

ผมได้ฝึกฝนทักษะการทำ Facebook Marketing จากยอดฝีมือของที่นี่ ผมรู้สึกเลยว่า การจะทำ Facebook Fanpage ให้ปังได้นั้น ต้องฝึกฝนกันอย่างหนัก ทั้งการใช้ภาษา การทำคอนเทนต์ที่แตกต่าง ดึงดูดใจผู้คนได้ และต้องฝึกทำงานอย่างรวดเร็วด้วย เพราะปัจจุบันมีคนทำคอนเทนต์อยู่มากมาย หากหยุดลงคอนเทนต์แม้เพียงวันเดียว สิ่งที่ทำมาทั้งหมดอาจไร้ค่าไปเลยก็ได้

ซึ่งต้องยอมรับว่า ผมทำงานในส่วนนี้ได้ไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่ ต้องฝึกฝนอีกเยอะมากๆ ทั้งในเรื่องของการฝึกคิดนอกกรอบ นำเสนอเรื่องใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ซึมซับคาร์แรกเตอร์ของแบรนด์ ให้เหมือนกับเป็นตัวตนที่ 2 ของตนเองให้ได้ ซึ่งประสบการณ์ฝึกงาน content writing ในครั้งนี้ จะเป็นความรู้และแนวทางให้ผมเอาไปพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต

เรียนรู้ทักษะการเขียนแบบติดจรวด ผ่านการปรับปรุงบทความของนักเขียนยอดฝีมือ

หลังจากที่ผมได้ฝึกปรือฝีมือจากโปรเจกต์แรกไป มันทำให้ผมมีกำลังวังชา มีความเก่งกล้าสามารถ สามารถอาศัยอยู่บนยุทธภพแห่งการปรับปรุงคอนเทนต์ได้ดียิ่งขึ้น

อย่างที่บอกไปในช่วงแรก แม้ว่า SEO Audit Project จะจบไปแล้ว แต่การปรับปรุงคอนเทนต์ยังคงมีอยู่ เพื่อให้ทุกบทความบนเว็บ ยังคงส่งมอบคุณค่าให้แก่คนใหม่ๆ ที่เข้ามาอ่านบทความนั้นๆ

แต่แม้จะพอมีความรู้เพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่ง จากประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา แต่ผมต้องขอสารภาพว่า การปรับปรุงเนื้อหายังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ดี เพราะการทำบทความที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ฟังดูเหมือนยาก ซึ่งมันก็ยากจริงๆ… หากทำได้ดี ก็จะทำให้บทความสามารถส่งมอบคุณค่าต่อผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น อย่างการอัปเดตเนื้อหาให้ทันสมัย เพิ่มเนื้อหาให้ครอบคลุมขึ้น เติมตัวอย่างให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

โชคดี ผมได้พี่ต้า คอยเข้ามาช่วยเหลือเด็กฝึกงาน Content Writer ตัวน้อยคนนี้อยู่ไม่ขาด ประคบประหงมเลี้ยงดู นั่นทำให้ทุกๆ การปรับปรุงบทความ ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเสมอ

เอาเป็นว่าผมทำอะไรไปบ้างนั่น เดี๋ยวผมจะขอเล่าไปพร้อมๆ กับขั้นตอนในการ Optimize ด้านล่างเลยครับ

อ่านบทความอย่างละเอียด ศึกษาคู่แข่ง เพื่อดูว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร

จากประสบการณ์ฝึกงานที่ผ่านมา สอนผมให้อ่านบทความก่อนรอบหนึ่ง เพื่อดูว่ามีส่วนไหนที่แปลกตาไปบ้างหรือไม่ เช่น ข้อมูลอ้างอิงตรงนี้เก่าแล้ว ควรเปลี่ยนเอาปีล่าสุดมาดีมั้ยนะ เอ๊ะ! ทำไมภาพนี้ไม่สื่อเลย หารูปใหม่มาใส่ดีกว่า หรือไม่ก็เพิ่มตัวอย่างในบทความให้เยอะขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น บทความโหลดรูปฟรี ผมเห็นว่าส่วนเริ่มต้นได้อ้างอิงถึงข้อมูลในปี 2014 เมื่อเวลาผ่านไปทำให้รู้สึกว่าเนื้อหานี้เก่าจัง ผมเลยไปหาข้อมูลอ้างอิงมาใส่แทนนั่นเอง

นอกจากการศึกษาตัวเองอย่างการอ่านบทความของตัวเอง การศึกษาคู่แข่งก็สำคัญ อย่างในสนามแข่ง การรู้ข้อมูลกลยุทธ์ของคู่ต่อสู้ จะทำให้เราปรับเกมการต่อสู้ให้เป็นได้ดังใจ

คอนเทนต์บนเว็บก็เช่นกัน หากคุณรู้ว่าคู่แข่ง มีเนื้อหาคอนเทนต์แบบใดบ้าง ยังขาดตรงจุดไหน เราก็สามารถที่จะพัฒนา ต่อยอดจากความผิดนั้นได้ เหมือนสำนวนสุภาษิตที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบ 100 ครั้งชนะ 100 ครั้ง”

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจะปรับปรุงบทความโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ สิ่งแรกที่คุณควรทำ คือการค้นหาผ่าน Google เพื่อดูว่าบทความในหน้าแรกมีเนื้อหาเป็นอย่างไร มีการลำดับ Outline เป็นอย่างไร เอ๊ะ ของเค้าตัวอย่างน้อยไปนะ เราหามาใส่เพิ่มซักหน่อยดีกว่า อะไรประมาณนี้เป็นต้น

วางแผนปรับปรุงเนื้อหา และลงมือทำ

หลังจากเข้าใจบทความที่จะปรับปรุงมากขึ้นแล้ว ต่อมาผมจะวางแผนปรับปรุงเนื้อหา ซึ่งตรงนี้ผมมีไกด์ไลน์จากพี่ต้าไว้แล้วว่ามีตรงไหนที่ควรจะปรับแก้บ้าง ซึ่งแต่ละบทความก็ปรับปรุงไม่เหมือนกัน บางบทความเสริมเนื้อหานิดหน่อย เพิ่มลิงก์ เพิ่ม Alt Text ก็เพียงพอ แต่บางบทความจะต้องทำ Outline และศึกษา Keyword ใหม่ เพื่อให้สามารถติดอันดับบน Google ได้

อย่างบทความ HTTPS ที่ผมเพิ่มเนื้อหาเสริมถึงเรื่องการอัปเดตล่าสุด กับเพิ่มไฟล์ Gifs เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพเท่านั้น

และจากประสบการณ์ฝึกงาน ผมไม่ได้เพิ่มเนื้อหาให้กับบทความเสมอไปนะครับ เพราะบางบทความก็ไปลดคำอธิบายต่างๆ ลง เพื่อให้เนื้อหาอ่านง่ายขึ้น อย่างเช่นบทความ Brand Character ที่หลายๆ คำอธิบายซ้ำซ้อน ไม่น่าอ่าน

บทความโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ กับบทความโปรแกรมทำอนิเมชัน เป็นตัวอย่างของบทความที่ผมเพิ่มตัวอย่างโปรแกรมให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านมีทางเลือกให้กับตัวเองเพิ่มขึ้น

ในทุกๆ บทความที่ผมปรับปรุงจากการฝึกงาน Content Writer นอกจากการปรับปรุงคอนเทนต์เชิงเนื้อหาอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ เช็ค SEO ให้กับบทความด้วย พวก Internal Link, Alt Text, SEO Title/Desc, Keyword Density และอื่นๆ

กาลเวลาผันผ่าน เผลอแปปเดียวก็จะครบกำหนดฝึกงานแล้ว ฝีมือการปรับปรุงบทความของผมพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ จากการฝากตัวเป็นศิษย์กับสำนักชิฝุ

หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า ทำไมในช่วงประสบการณ์ฝึกงาน Content Writer ของผม ผมปรับปรุงบทความให้คนอื่นเยอะจังเลย ไม่ได้เขียนบทความเป็นของตัวเองซักที อย่างนี้ถือว่าใช้งานเด็กฝึกงานมากไปหรือเปล่า

ในความเป็นจริงแล้ว ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากๆ เลยครับ ผมรู้สึกว่าการได้ปรับปรุงบทความของคนอื่น มันทำให้ผมเข้าใจวิธีการเขียนมากขึ้น มากกว่าการเขียนบทความเป็นของตัวเองเสียอีก (ผมได้เขียนบทความเองเหมือนกัน อ่านต่อในหัวข้อถัดๆ ไปครับ)

เพราะการที่ผมจะปรับปรุงบทความได้นั้น ผมต้องศึกษาวิธีการเขียนบทความที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจ SEO ต้องรู้กระบวนการทำงานของ Search Engine และที่ผมมีความรู้ตรงนี้ ก็เป็นเพราะพี่ๆ ที่ฝึกงานช่วยสอนผมจากประสบการณ์จริง ให้ลงเรียนคอร์ส ให้เว็บบล็อกสอนการทำต่างๆ มาอ่าน ซึ่งผมมองว่าความรู้ตรงนี้ สำคัญมากกว่าการมีผลงานเป็นของตัวเองเสียอีก

อีกทั้งที่ฝึกงานแห่งนี้ ไม่เคยกั๊กความรู้อะไรทั้งสิ้น จะเห็นได้ตั้งแต่เริ่มต้น ที่แม้ผมจะทำงานไม่เป็นเลย ก็ช่วยสอน ให้เรียนคอร์ส ให้แหล่งความรู้มาอ่านเพิ่มเติม ให้สิทธิ์เข้าใช้งาน WordPress และ Facebook Fanpage ที่อาจเป็นภัยกับบริษัทได้หากความลับรั่วไหล

และอีกหนึ่งสิ่ง ที่พี่ๆ สอนให้ผมได้รู้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของสำนักชิฝุ นั่นคือการทำ E-mail Marketing ครับ

เขียนอีเมลให้คนอยากเปิดอ่าน อีกทักษะที่ไม่เคยคิดว่ายากขนาดนี้

“การมีรายชื่ออยู่ในกระเป๋า คือสินทรัพย์ที่ประเมินค่ามิได้” – เจฟฟ์ เบโซส ผู้เขียนหนังสือ Launch

Email Marketing เป็นเครื่องมือที่ดีมากๆ ตัวหนึ่งเลย ที่ Content Shifu ใช้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยนึกถึงมาก่อน เพราะอีเมลที่ผมมี ผมไม่เคยใช้งานอย่างจริงจังเลย สมัครมาแค่จะได้ใช้งานแอปอื่นๆ หรือยืนยันตัวตนได้เท่านั้น

แต่หากใช้งานเป็น Email จะเป็นเครื่องมือชั้นยอดสำหรับการทำการตลาดบนโลกออนไลน์เลยเชียวล่ะ

โดยหลักการเขียนคอนเทนต์ให้ได้ผลลัพธ์มีดังนี้

หัวข้อต้องน่ากดอ่าน

ให้คุณลองเช็คอีเมล์ของตัวเองดู แล้วไล่สายตาดูว่ามีอีเมล์ไหนเข้าตาจนคุณต้องเปิดอ่าน นั่นแหละครับการทำ Email Marketing ที่ดี

ผมไม่ได้คิดหัวข้อขึ้นมาเองหรอกครับ เพราะ Content Shifu มีแนวทางการเขียนที่จะ Grab Attention ให้คนอยากเปิดอ่านอยู่แล้ว

ที่ผมสังเกตเห็นคือ พี่ๆ จะใช้การบอกเลยว่าอีเมลนั้นมีเนื้อหาอะไร หากเจ้าของอีเมลสนใจเขาก็จะกดเปิดอ่านเอง ยกตัวอย่างเช่น “แนะนำ R-CRM ระบบ CRM สำหรับทีม…” ซึ่งถ้าคนที่สนใจในระบบ CRM อยู่แล้ว เขาก็จะกดเปิดอ่านอีเมลทันที

ข้อดีของวิธีนี้คือ เราจะได้คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ เพราะถ้าใครไม่สนใจเขาก็จะไม่เปิดอ่าน รออ่านอีเมลอื่นๆ ที่จะตามมาอีกในอนาคต

Key Message ชัด กระชับ

สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว หลังจากที่เราทำให้คนที่จะกดอ่านเข้ามาได้แล้ว เขาจะต้องอ่านเนื้อหาแล้วเข้าใจทันทีว่าเราอยากให้เขาทำอะไร อย่างเช่นในตัวอย่างที่แล้ว เนื้อหาของอีเมลจะพูดถึงฟีเจอร์เด่นๆ ของ R-CRM จากนั้นก็ใส่สิ่งที่เราอยากให้เขาทำ นั่นคือใส่ปุ่มกดให้เขาไปยังหน้า Landing Page ของโปรแกรมตัวนี้

เขียนให้รู้สึกว่าคุยกับเขา

ผมเคยอ่านเจอว่า เราจะไว้ใจคนที่ไม่รู้จักกันเพียง 30% หรือน้อยกว่านั้น แต่จะไว้ใจคนที่รู้จักกัน 70% หรือมากกว่านั้น

Content Shifu ใช้หลักการข้อนี้มาตลอด ทุกๆ อีเมลจะเริ่มต้นด้วยคำทักทาย และตามด้วยชื่อของเขา “สวัสดีค่ะคุณไอซ์”…

แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การทำแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเป็นกันเอง และมีโอกาสที่จะยอมรับสารที่เราส่งไปมากขึ้น

Content Shifu ใช้ Hubspot เป็นหนึ่งในการทำอีเมลมาเก็ตติ้ง แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ใช้งาน เพราะราคาเข้า Access ของสมาชิกนั้นค่อนข้างแพง แต่พี่ต้ากับพี่ฝ้ายก็แนะนำวิธีการใช้งานคร่าวๆ ให้ผมด้วย ใจดีมากเลยจริงๆ ครับ เป็นหนึ่งในประสบการณ์ฝึกงานสุดล้ำค่าที่ผมได้รับเลยแหละ

เริ่มต้นเขียนบล็อกของตัวเอง

หลังจากที่ผมได้ฝึกปรือฝีมือ เพื่อที่จะได้เป็นสุดยอดจอมยุทธด้านการเขียนคอนเทนต์ ผ่านสำนักชิฝุ ที่มีชื่อเสียงก้องยุทธภพแห่ง Digital Marketing ตอนนี้ก็ถึงเวลาเอาวิชาทั้งหมดที่ร่ำเรียนมา มาใช้ในการเขียนคอนเทนต์ฉบับออริจินัล

Content Shifu ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพของบทความ แต่ละบทความบนเว็บไซต์จะเป็นลักษณะ Long Form เนื้อหาแน่น ครบ จบในที่เดียว ทำให้ต้องมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านคอนเทนต์และกราฟิก

เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังว่า ผมได้ตกตะกอนความรู้จากประสบการณ์ฝึกงาน Content Writer ที่ผ่านมา เพื่อมาเขียนบทความลง Content Shifu ให้ได้มาตรฐานจนสามารถเผยแพร่ลงบนสำนักได้อย่างไรบ้าง

มีวิธีการเขียนยังไงบ้าง

ความจริงแล้ว การเขียนบทความใหม่ ไม่ได้แตกต่างจากตอนที่ผมปรับปรุงบทความมากนัก เพราะใช้ความรู้ของ SEO มาจับเหมือนกัน ต้อง Research หาความรู้เพื่อใช้เขียน ต้องทำ Outline เพื่อให้เห็นถึงกระดูกสันหลังของบทความ และอื่นๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากประสบการณ์ฝึกงานที่ผ่านมา คือการเขียนบทความเอง ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ศูนย์ ไม่มี Resource เก่าๆ ให้ได้ศึกษาก่อน การเขียนบทความจึงต้องค้นคว้าหาข้อมูลเยอะกว่าการปรับปรุง

อย่างบทความแรกที่ผมเขียนคือ YouTube All Size ผมเริ่มต้นจากการรวบรวม Keyword > เขียน Outline > ศึกษาข้อมูลประกอบการเขียน YouTube All Size > เริ่มเขียนดราฟต์ 1 > ปรับแก้จากคอมเมนต์ และเพิ่มเติมองค์ประกอบของ SEO > ไฟนอล

ต่อมาคือบทความ LINE All Size มีขั้นตอนการทำงานที่คล้ายๆ กัน คือเริ่มต้นจากการรวบรวม Keyword > เขียน Outline > ศึกษาข้อมูลประกอบการเขียนบทความ LINE All Size > เริ่มเขียนดราฟต์ 1 > ปรับแก้จากคอมเมนต์ และเพิ่มเติมองค์ประกอบของ SEO > ไฟนอล

หรืออย่างบทความ SEO Audit ก็มีขั้นตอนดังนี้คือ รวบรวม Keyword > เขียน Outline > ศึกษาข้อมูล + เรียบเรียงประสบการณ์การปรับปรุงบทความของ Content Shifu > เริ่มเขียนดราฟต์ 1 > ปรับแก้จากคอมเมนต์ และเพิ่มเติมองค์ประกอบของ SEO > ไฟนอล

จะเห็นได้ว่า การเขียนแต่ละบทความ วิธีการที่คล้ายๆ กัน โดยส่วนที่สำคัญที่สุดคือพลังใจครับ พลังใจที่จะมุ่งมั่นทำงานต่อไป แม้จะเจออะไรก็ไม่หวั่น ไม่ท้อถอย พัฒนางานเขียนต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายผลงานที่ออกมาก็จะดีเอง

ปัญหาและอุปสรรคที่พบ

YouTube All Size: การคิด Outline ค่อนข้างติดขัดในช่วงแรก เพราะตอนแรกผมร่างออกมาอย่างกว้างเกินไป ภายหลังพี่ที่คุมงาน (พี่ต้า) จึงช่วยคอมเมนต์งานและปรับแก้ให้ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียน จำได้ว่างานนี้ใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว (นานมาก)

LINE All Size: การหาข้อมูลมาเขียนค่อนข้างยาก เนื่องจากหากเป็นผู้ใช้งานปกติ การใช้งานของแอป LINE จะง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่พอเป็นการใช้งานของเจ้าของกิจการ หน้าตาหลังบ้านของแอปจะเป็นอีกแบบ มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่แตกต่างกัน

อีกทั้งผมจะต้องลองใช้ทั้งตัวโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้ประกอบการจะใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ที่ซับซ้อน และผู้ใช้งานทั่วไปจะใช้แอป LINE ผ่านโทรศัพท์แบบปกติ

SEO Audit: SEO Audit หรือ Content Audit ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนักในประเทศไทย ดังนั้นการอ้างอิงชื่อและเนื้อหาต่างๆ จะมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ และประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ทำ Content Optimization Project ให้กับ Content Shifu ที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป

หนึ่งในปัญหาที่ผมเป็น และพี่อรเคยกล่าวไว้ในคอร์ส Digital Content Writing คือ การเขียน Outline ให้เป็นระเบียบ หากใครก็ตามที่ไม่อยากเขียน Outline ต้องการ Research เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งไม่มั่นใจ แสดงว่าผิดโจทย์แล้ว ทางแก้คือ ให้ Research แค่เท่าที่พอดีต่อ Outline เพื่อป้องกันการหาข้อมูลไม่จบไม่สิ้น และทำให้งานเขียนมีความเป็น Original Content ไม่ซ้ำใคร

แนะนำตัวกันหน่อย

อ้าว เล่าไปจนจบแล้ว ลืมแนะนำตัวเองเลย…
ผมชื่อไอซ์ เป็นนักศึกษาคณะไอซีที มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกการสื่อสารมวลชน เข้ามาเป็นนักศึกษาฝึกงานที่บริษัท Magnetolabs และ Content Shifu มาได้ 6 เดือนแล้วครับ

ที่นี่มีอะไรต่อมิอะไรให้ทำเยอะมาก ไล่ตั้งแต่การปรับปรุงเว็บไซต์ ปรับปรุงบทความ เขียนคอนเทนต์ลงเฟสบุ๊ก เขียนอีเมล เขียนบทความออริจินอล และงานจิปาถะต่างๆ ที่ไม่ได้ใส่ไว้ในบทความนี้ก็ล้วนน่าสนใจ อย่างการเขียนคอนเทนต์สัมภาษณ์ เขียนข่าว บรีฟงานกราฟิก ใส่ซับให้กับวิดีโอโปรโมต และอื่นๆ

ตอนแรกผมคิดว่าเด็กฝึกงานทุกคนก็น่าจะได้รับประสบการณ์ฝึกงานดีๆ แบบนี้กันหมด แต่พอผมได้คุยกับเพื่อนหลายๆ คนที่ต้องหาที่ฝึกงานเหมือนกัน บางคนบอกว่าพี่ๆ ไม่ให้ทำอะไรเลย ให้นั่งอยู่อยู่เฉยๆ จนหมดเวลา หรืออย่างเก่งก็ให้ทำงานแกะเสียง ทำงานจิปาถะเล็กๆ น้อยๆ ที่ใครก็ทำได้

พอมาเปรียบเทียบกันแล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากจริงๆ ได้ทำงานแบบเดียวกับที่คนทำงานเขาทำกัน แม้ว่าผมจะทำงานช้า ทำงานไม่ได้มาตรฐาน ทำให้บริษัทเสียเวลามาแก้ปัญหาในส่วนของผมไปบ้างก็ตาม ตรงส่วนนี้ก็ขอโทษอย่างใจจริงครับ แต่หากพูดถึงแต่ตัวผมเท่านั้น คือผมมีแต่ได้กับได้

“น้องไอซ์เข้ามาตรงนี้คือโชคดีมากๆ เลยนะ ความจริงแล้วมีนักเขียนหลายคนทักเข้ามาว่าอยากทำงานด้วย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคุณสมบัติไม่ผ่าน ทำได้แค่เป็น Freelance รับทำงานเป็นชิ้นๆ ไป พอพี่จะคอมเมนต์ก็ทำได้ไม่สุด สู้มานั่งทำงานด้วยกัน เวลาเจอปัญหาอะไรก็ช่วยๆ กันดูได้”

พี่เลี้ยงของผมเล่าให้ฟัง หลังผ่านการคอมเมนต์งานเขียนชิ้นหนึ่ง และผมเห็นด้วยกับความคิดนี้ที่สุดเลยครับ เพราะการทำให้เป็นทีมด้วยกัน ย่อมสามารถช่วยเหลือกันให้งานออกมาดีที่สุด

เวลาผมไม่ได้ตรงไหน พี่ก็พร้อมจะช่วยเหลือเกื้อกูลเสมอ

คอยแนะนำสั่งสอน คอมเมนต์อย่างตรงจุด เพื่ออยากให้ผมได้พัฒนา

หรือตอนที่เห็นผมมาทำงานตอนกลางดึก ก็ยังไม่วายมาห้าม เพราะกลัวว่าผมจะไม่ได้พัก

ความกังวลก่อนฝึกงานว่าจะเข้ากับพี่ๆ ไม่ได้นั้นหายสิ้นไปเลยทีเดียว

selfie-internship

ขอบคุณที่อ่านจนจบ

หากอ่านบทความแชร์ประสบการณ์ฝึกงาน Content Writer ของผมมาถึงตรงนี้ ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกคน และนับถือความสามารถในการอ่านเอาเรื่องของคุณจริงๆ ครับ

แต่ละหัวข้อในบทความนี้ ล้วนมีวิธีการคิดคอนเทนต์ที่ไม่เหมือนกัน แต่หัวใจหลัก หรือแก่นกระพี้ของอาชีพ Digital Content Writer คือทักษะการเขียน ผมได้เรียนรู้ว่าจะเขียนเอามันส์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อสารด้วย ศึกษาธรรมชาติของแพลตฟอร์มที่ใช้ลงคอนเทนต์ และนำข้อมูลมาใช้วางแผนการเขียน

ทักษะนี้เป็นทักษะที่น่าฝึกฝนมากๆ ครับ เพราะจะเห็นได้ในทุกวันนี้ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ใครที่ฝึกฝนทักษะ Digital Content Writing จนชำนาญ ก็จะได้เปรียบ สามารถคิดคอนเทนต์ เขียนงานต่างๆ ได้กระชากใจผู้ติดตาม อีกทั้งทักษะนี้ยังเป็นที่ต้องการในตลาดหางานเป็นจำนวนมาก รับรองว่าฝึกฝนไว้ได้ใช้ประโยชน์แน่นอนครับ

และวิธีการฝึกฝนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือการได้ทดลองทำงานจริงครับ ยิ่งถ้าได้ทำงานกับรุ่นพี่เก่งๆ ด้วยแล้ว ทักษะของคุณก็จะยิ่งพัฒนาติดจรวด หากน้องๆ คนไหนกำลังมองหาที่ฝึกงาน และต้องการฝึกฝนทักษะตรงนี้ ลองหาทางติดต่อบริษัท Magnetolabs หรือ Content Shifu ดูนะครับ ผมไม่รับประกันว่าพี่ๆ เขาจะรับหรือเปล่า (อาจเข็ดกับผมแล้ว 555+) แต่ลองก่อนย่อมดีกว่าอยู่เฉยๆ อยู่แล้วครับ

 

New call-to-action

Author

Magneto Intern

นักศึกษาฝึกงานที่ไม่ได้มีแค่ ‘คนเดียว’ เราคือทีมที่อยากเรียนรู้ และใฝ่หาประสบการณ์ทำงานจริง จนได้มาพบกันที่ Magnetolabs
นักศึกษาฝึกงานที่ไม่ได้มีแค่ ‘คนเดียว’ เราคือทีมที่อยากเรียนรู้ และใฝ่หาประสบการณ์ทำงานจริง จนได้มาพบกันที่ Magnetolabs

Related Blog

Leave Your Comment