คุณคิดว่าทักษะอะไรที่สำคัญในอนาคต?
เมื่อโลกกว้างขึ้น เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ทักษะที่เรามีอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป ถ้าพูดถึงทักษะจำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 คนส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงทักษะด้านเทคโนโลยี Soft Skills อย่างการเข้าสังคม หรือทักษะด้านอาชีพเป็นอันดับแรกๆ (ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสำคัญมาก) แต่สำหรับบทความนี้เราจะพูดถึงหนึ่งในทักษะที่ทุกคนควรมี แต่อาจจะถูกมองข้ามไปนั่นก็คือ “ทักษะการเขียน” นั่นเอง
ใช่…ถูกแล้ว “การเขียน” แต่เราไม่ได้พูดถึงการฝึกเขียนคัดลายมือ หรือการเขียนเรียงความเพื่อส่งอาจารย์ อันที่จริงการเขียนเป็นทักษะหนึ่งที่จะช่วยดึงศักยภาพในตัวคุณออกมา และผลักดันให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่คุณคิด
เราในฐานะผู้เขียนบทความชอบการขีดๆ เขียนๆ มาตั้งแต่เด็ก แล้วก็นึกแปลกใจที่ทักษะนี้ช่วยชีวิตตัวเองไว้หลายครั้งทีเดียว สำหรับบทความนี้เราจึงได้สรุป 5 เหตุผลหลักๆ ทำไมคุณควรฝึกเขียนอย่างจริงจัง เรามาดูกันเลย!
เหตุผลที่คุณควรมีทักษะการเขียน
1. การเขียนช่วยจัดระบบความคิด
เคยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะ ‘Overload’ ไหม? อาจจะเป็นตอนที่คุณกำลังวางแผนการทำงานอันซับซ้อน หรือวันที่เจอปัญหาถาโถมจนความคิดสับสน ช่วงเวลาที่ความคิดยุ่งเหยิงทำให้ปัญหาขยายใหญ่โดยไม่รู้ตัว กลายเป็นความรู้สึกวิตกกังวล หรือ ‘ตัน’ ไม่รู้จะเริ่มต้นทำอะไรก่อนดี
การเขียนลิสต์ของเรื่องที่คุณรู้สึกกังวล ปัญหาที่กำลังเผชิญ สิ่งที่ต้องทำ และอื่นๆ จะช่วยจัดระบบความคิดของคุณ ทำให้เห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น หรือเห็นภาพรวมการทำงานทั้งหมด ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการทำงานและแก้ไขปัญหา เพราะอย่าลืมว่า ‘ความสามารถ’ อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย คนที่มองเห็น ‘หัวใจ’ ของปัญหาต่างหากที่จะกลายเป็นนักแก้ปัญหาที่ดี
ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณรู้สึกความคิดในหัวยุ่งเหยิง ลองฝึกเรียบเรียงความคิดด้วยการหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่น แล้วจับปากกาเขียนปัญหาหรือสิ่งที่ต้องทำลงไป คุณอาจจะแปลกใจที่ความคิดในหัวถูกเรียบเรียงให้เป็นระบบมากขึ้น สุดท้ายก็ค้นพบว่าต้นตอของปัญหาจริงๆ มีเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้นเอง
2. ทำให้มีสมาธิ
สิ่งที่ดึงให้เราวอกแวก เสียสมาธินั้นมีรอบตัวเต็มไปหมด หลายๆ คนจึงเกิดอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออะไรได้นาน การเขียนช่วยฝึกสมาธิ เนื่องจากจะทำให้คุณได้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ที่สำคัญการเขียนเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูง ในหัวของนักเขียนต้องทำหลายอย่าง ทั้งประมวลผลข้อมูลจากคลัง คิดว่าจะเรียบเรียงหรือลำดับเรื่องอย่างไร หาคำพูดและข้อความที่สามารถสื่อสารได้ดี รวมถึงขัดเกลาข้อความให้น่าอ่าน
จะเห็นได้เลยว่าคนที่เขียนได้ดีนั้นต้องมีสมาธิเพื่อดึงความคิดสร้างสรรค์ออกมา เหมือนกับแว่นขยายอันเล็กๆ ที่สามารถรวมแสงอาทิตย์เป็นจุดเดียวแล้วเผาไหม้กระดาษได้ นี่ล่ะคือพลังของการจดจ่อ
3. เข้าใจตัวเองมากขึ้น
ทุกวันนี้เราอยู่บนโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร เรื่องของคนรอบข้างไหลเข้ามาในชีวิตเราทุกวินาที จนกลายเป็นว่าเรารู้จักคนอื่นๆ แทบจะทุกแง่มุม แต่จริงหรือไม่ที่เรากลับรู้จักตัวเองน้อยลงไปทุกที…
การเขียนจึงเข้ามามีบทบาททำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อคุณนั่งลงเขียน (โดยเฉพาะหากเขียนเรื่องราวของตัวเอง) มันจะกลายเป็นช่วงเวลาที่คุณได้อยู่กับตัวเองอย่างมีคุณภาพ ได้กลั่นกรองความคิด อารมณ์และความรู้สึกให้ออกมาเป็นตัวอักษร
ทำไมเราจึงให้ความสำคัญกับการเข้าใจตัวเอง? ในอนาคตคนที่จะอยู่รอดคือคนที่กล้าเปลี่ยนแปลงและรู้จักปรับตัว คนที่เข้าใจตัวเองจะรู้จักข้อดี ข้อเสีย รู้จักจุดมุ่งหมายของชีวิต มันไม่มีประโยชน์เลยหากคุณมีทักษะครบทุกอย่าง แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองต้องการอะไร หรือรู้สึกอย่างไร
วุฒิการศึกษาสูงแค่ไหนก็ไม่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ถ้าคุณไม่ “ตั้งคำถาม” ให้ถูกต้อง การเขียนก็คือการเปิดโอกาสให้คุณได้คุยกับตัวเองนั่นเอง
แทนที่จะใช้เวลาทั้งวันง่วนกับการใช้ชีวิตในโลกภายนอก คุณอาจจะจัดเวลาเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละวันเขียนทบทวนเกี่ยวกับตัวเองเพื่อทำให้ ‘โลกภายใน’ ของคุณนั้นชัดเจน
“จุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกิดจากการค้นหาตนเอง”
—CHALMERS BROTHERS
4. เป็นหนึ่งในทักษะการสื่อสารที่สำคัญ
เรารู้อยู่แล้วว่าทักษะสื่อสารนั้นมีประโยชน์มากมายเพียงไร เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีม การเขียนคือการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ใช้ ‘ตัวอักษร’ เป็นเครื่องมือ
ดังนั้นไม่แปลกที่การสมัครงาน สมัครเรียนหลายๆ ที่จะใช้การเขียนเรียงความเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณา เรียงความหนึ่งเรื่องสามารถสะท้อนกระบวนการคิดของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี มันบอกได้ว่าคุณลำดับเรื่องราวอย่างไร มีความเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ คุณค้นคว้าหาข้อมูลดีแค่ไหน
การพัฒนาทักษะการเขียนก็จะส่งผลดีต่อการสื่อสารรูปแบบอื่นๆ ด้วยเช่นกัน คุณอาจจะเรียบเรียงเวลาพูดดีขึ้น สื่อสารได้ตรงประเด็น ไม่พูดสะเปะสะปะจนทำให้ผู้ฟังสับสน
5. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
มาถึงตรงนี้ทุกคนน่าจะเห็นภาพกันแล้วว่าการเขียนเป็น ‘เครื่องมือ’ หนึ่งที่ทำให้คุณได้พัฒนาตัวเองตั้งแต่ภายใน (Personal growth) ซึ่งอาจส่งผลให้คุณสามารถดึงดูดโอกาสต่างๆ เข้ามาในชีวิตได้อย่างมากมาย
แต่อาจจะมีบางคนเถียงในใจ (อ้ะ แอบได้ยิน) ว่าไม่ได้ทำงานให้สายงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนเป็นหลัก มันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ? เรา (ผู้เขียน) มีพื้นฐานการเรียนวิศวะมาก่อน ยืนยันอีกเสียงได้ว่าการเขียนจะทำให้คุณทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในสายงานใด
เพราะมันไม่ใช่เรื่องของ “งานเขียน” แต่เป็น “กระบวนการคิด” ที่คุณใช้ในการเขียนต่างหากที่ทำให้คุณทำงานได้ดีขึ้น
ฝึกเขียนอย่างไรดี?
เอาล่ะ ถ้าคุณเป็นมือใหม่อยากเขียน หรือกำลังอยู่ในช่วงฝึกเขียน เรามีเทคนิคง่ายๆ 3 ข้อสำหรับนำไปปรับใช้กัน ถ้าผู้อ่านมีเทคนิคการเขียนดีๆ สามารถแชร์ในคอมเมนต์ได้เลยนะคะ
1. เริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านที่ดี
“ก็แค่เขียนเอง ไม่น่าจะยาก…” ทั้งๆ ที่เหมือนจะเป็นทักษะง่ายๆ แต่พอจับปากกา (หรือใครถนัดพิมพ์ก็ว่ากันไป) เท่านั้นล่ะ สมองกลับว่างเปล่า นึกอะไรไม่ออกซะอย่างนั้น…ทำอย่างไรดี?
ถ้าเปรียบเทียบสมองเป็นเหมือนโกดังเก็บข้อมูล การอ่านก็คือการเพิ่มข้อมูลเข้าไปในโกดัง ในขณะที่การเขียนคือการดึงข้อมูลจากโกดังออกมาใช้
ปัญหาของคนที่ “ไม่รู้จะเขียนอะไร” อาจจะเป็นเพราะมีคลังข้อมูลในโกดังน้อยเกินไป จนไม่สามารถดึงอะไรออกมาเขียนได้ การเขียนที่ดีจึงเริ่มต้นจากการเป็นนักอ่านที่ดีก่อน นอกจากจะเป็นการเพิ่มข้อมูลในโกดังแล้ว คุณยังได้ศึกษาวิธีการเขียนของคนอื่นอีกด้วย
“ยิ่งเราอ่านมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้เยอะมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเราเรียนรู้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสถานที่ที่เราจะไปมากขึ้นเท่านั้น”
– ดร.ซูสส์ นักสร้างสรรค์หนังสือเด็ก จากหนังสือ I Can Read With My Eyes Shut!
2. ฝึกเขียนไดอารี่
การเขียนเรื่องราวของตัวเองมีประโยชน์ในแง่ที่เราได้ทบทวนตัวเอง และยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนกำลังฝึกเขียน ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเขียนอะไรดี ลองเขียนอะไรง่ายๆ อย่างการเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเอง เช่น ประสบการณ์ทั้งดีและแย่ที่คุณได้เผชิญ บทเรียนที่คุณได้รับจากเหตุการณ์ต่างๆ ฝึกอธิบายความรู้สึกและความคิดของคุณออกมา เป็นต้น
3. เขียนสม่ำเสมอ
สุดท้ายไม่มีอะไรสามารถแทนที่การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอได้ ทักษะต่างๆ ก็เหมือนมีด ยิ่งลับยิ่งคม
ดังนั้นตั้งเป้าหมายเขียนทุกวัน เขียนอะไรก็ได้วันละนิดวันละหน่อย อาจจะเริ่มต้นจากการเขียนสเตตัสลงโซเชียลมีเดีย เขียนบล็อก แล้วค่อยๆ ขยับขยายไปเขียนประเด็นอื่นๆ ที่ไกลตัวออกไป นอกจากทักษะการเขียนจะดีขึ้นแล้ว คุณจะมีวิธีการคิดที่เฉียบคมขึ้นด้วย
สรุป
ทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อการ “อยู่รอด” ในอนาคตจะไม่จำกัดแค่ด้านวิชาการหรือด้านวิชาชีพอย่างเดียว ปัจจุบันหลายๆ ทักษะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AI ดังนั้นทักษะที่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ทักษะการเข้าสังคม (เช่น การสื่อสาร, การจัดการอารมณ์, ภาวะผู้นำ, เป็นต้น) ทักษะการแก้ไขปัญหา (เช่น การวิเคราะห์ปัญหา, ความคิดสร้างสรรค์, การสื่อสาร, เป็นต้น)
การเขียนเสมือนเป็นที่ลับคมทักษะเหล่านี้ไปในตัว เพราะเมื่อคุณเขียน สมองจะถูกกระตุ้นให้ตกผลึกความรู้ หรือประสบการณ์ออกมาเป็นตัวอักษร เมื่อคุณเขียน คุณจะต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้าข้อมูลเยอะขึ้น และการเขียนจะทำให้คุณดึงความคิดสร้างสรรค์ออกมา
ดังนั้นไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุค การเขียนก็ยังคงเป็นทักษะสำคัญที่นักเรียนและคนทำงานควรฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ไม่สำคัญว่าจะอยู่ในสายงานอาชีพใด