อยากจะเขียนบทความดีๆ ให้ได้สักที แต่ไม่รู้จะทำยังไง เขียนไปสักพักบางทีก็ตันจนอยากเลิกเขียน
ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นนักเขียนมือใหม่หรือมือเก๋า ถนัดเขียนคอนเทนต์สั้นหรือยาว ก็คงต้องเคยมีความคิดแบบนั้นกันบ้างล่ะครับว่า เราจะเริ่มเขียนได้ยังไง และเราจะสานต่อสิ่งที่ตัวเองเขียนไว้อย่างไรดี
“งานเขียนคือสมรภูมิอันสวยงามที่ถูกแต่งแต้มด้วยหยดหมึกแห่งจินตนาการ”
สาเหตุที่เลือกใช้คำว่าสมรภูมิเพราะว่า นอกจากความงดงามที่ถูกถ่ายทอดออกมาในฉากหน้าแล้ว มันยังมีเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยการค้นหาข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบ แก้ไข ความเครียดที่มากับงานเขียน ไปจนถึงความกลัว…
นั่นครับ สมรภูมิอันสวยงาม ที่เหล่านักเขียนต้องมีชีวิตรอดไปให้ได้
บทความนี้คงเป็นการแบ่งปันอาวุธให้กับสหายร่วมรบ รวมไปถึงคนที่เพิ่งเข้าสู่สมรภูมินี้แบบกว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ว่าจะเขียนงานแต่ละครั้งเราจะเริ่มและจบมันได้อย่างไร แล้วถ้าตัน…จะทำยังไงดี
ถ้าพร้อมแล้ว มาเข้าสู่สมรภูมิกันเลยครับ
เริ่มต้นเขียนบทความจากศูนย์
การเขียนบทความ คือการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลทั้งที่เรามีอยู่หรือต้องหาเพิ่มเติม กลั่นกรองออกมาและเขียน (หรือพิมพ์) เป็นตัวอักษรสู่สายตาทุกๆ คน ทว่าก่อนจะเริ่มจับคีย์บอร์ด เราต้องรู้ครับว่า ‘เราเขียนเพื่ออะไร ?’ เสียก่อน
การรับรู้ว่าเราเขียนเพื่ออะไร นอกจากจะช่วยให้ผู้เขียนสามารถตั้งเป้าหมายได้ง่ายขึ้นแล้ว สำหรับบางคนยังเป็นตัวกระตุ้น Passion ชั้นดีด้วย เนื่องจากงานเขียนไม่ว่าจะออฟไลน์หรือออนไลน์ ผู้คนย่อมได้อ่านในวงกว้างอยู่ดี โดยตัวอย่างของเหตุผลในการเขียนจะมีดังนี้ครับ
- เขียนเพื่อความบันเทิง รังสรรค์เรื่องราวให้คนหัวเราะ ร้องไห้ มีความรู้สึกสอดคล้องไปกับงานเขียนของเรา
- เขียนเพื่อให้ความรู้ รวบรวมความเชี่ยวชาญ ความถนัด ประสบการณ์ หรือเรื่องราวใหม่ๆให้กับคนอื่นได้อ่าน
- เขียนเพื่อขาย หลักๆ คือการโฆษณา อยากให้คนซื้อของ อธิบายอรรถประโยชน์ของสิ่งที่เราต้องการจะขาย
- เขียนเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น บอกรัก ความรู้สึก บ่น ตัดพ้อ แสดงความต้องการของตัวเอง
ชัดเจนเลยว่าการเขียนบทความ (หรือคอนเทนต์อื่นๆ) ย่อมมีหน้าที่ของมันอยู่แล้ว ถ้าจะเขียนงาน ต้องรู้เสียก่อนว่าเราจะนำมันไปใช้ทางไหน ต่อด้วยเราจะแต่งแต้มสิ่งอื่นๆ เข้าไปได้อย่างไร เช่น การให้ความรู้ อาจใส่ความบันเทิงไปบ้างก็ได้เพื่อให้คนอ่านไม่เบื่อ แต่อย่าใส่มากไปจนกลบสิ่งที่เป็นความรู้ เป็นต้น
งานเขียนนี้เขียนเพื่อใคร
เหนือกว่าหน้าที่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง เรากำลังเขียนงานๆ นี้ให้ใคร คนที่เราต้องการจะสื่อเนื้อความในตัวอักษรไปหาคือคนกลุ่มไหนเป็นหลัก
ถ้าอยากเขียนให้เวิร์กเรื่องนี้สำคัญมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่แบ่งตามช่วงเวลาการเกิดเช่น Gen X Gen Y หรือแบ่งตามอาชีพ ทุกๆ คนไม่มีใครเหมือนกัน แต่มักมีจุดร่วมไปในแนวทางใดแนวทางหนึ่งเสมอ สิ่งที่นักเขียนต้องทำคือการ “ระบุกลุ่มผู้อ่าน” หรือในภาษาธุรกิจที่เรียกว่าการทำ Buyer Persona นั่นเอง
เพราะนอกจากเราจะสามารถมอบความรู้และประสบการณ์ได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านแล้ว สไตล์การเขียนหรือมุกที่ตรงใจ ยังส่งผลให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ไหลลื่นยิ่งขึ้นด้วย
แน่นอนครับว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรตายตัว
“งานเขียนก็คล้ายกับการจีบสาวครับ เราต้องศึกษาทำความเข้าใจ ผสานความรู้ ประสบการณ์ ความเป็นตัวเราให้มากที่สุด เพื่อให้คนๆ นั้นชอบเราในแบบที่เราเป็น”
เมื่อเรารู้ว่า เขียนทำไม เขียนเพื่อใคร ตอนนี้ก็ได้เวลาสตาร์ทงานเขียนแล้วล่ะครับ
ไอเดียและความรู้ที่ใช้เขียนมาจากไหน
ส่วนตัวผมคิดว่า งานเขียนทุกงานจะมีจิตวิญญาณของคนเขียนแฝงอยู่เสมอ เหตุเพราะต้นกำเนิดไอเดียต่างๆ มักมาจากตัวคนเขียนครับ สิ่งละอันพันละน้อยที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะละเอียดยิบย่อยเช่นกับข้าวที่เรากินในแต่ละวัน ไปจนถึงสถานการณ์บ้านเมือง ทุกอย่างถูกเปลี่ยนเป็นไอเดียได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
ใช่ครับ อย่างที่บอกว่าไอเดียนั้นเป็นผง ผงแบบผงธุลีจริงๆ เพราะมันเยอะมาก ทั้งความรู้ ประสบการณ์ ทุกอย่างคือไอเดีย ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนมันเป็น “หมึก”
ทำยังไง ?
ตอบง่ายๆ ว่า Outline ครับ หรือถ้าเป็นนิยายก็คือ พล็อต หรือโครงเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบนั่นเอง โดยอ้างอิงจากไอเดียผสานกับสองหัวข้อใหญ่ด้านบน คือเราจะเขียนเพื่ออะไร และเขียนเพื่อใคร
ยกตัวอย่างเช่น บทความนี้
- เพื่ออะไร แบ่งปันประสบการณ์ วิธี ความเข้าใจในงานเขียนให้ผู้อ่านรับรู้
- เพื่อใคร ผู้ที่สนใจในการเขียน อยากเขียนงานตั้งแต่ศูนย์ ผู้ที่เขียนงานแล้วเกิดอาการตัน
ไอเดียแรกเริ่มของผมเริ่มจากความรู้สึกส่วนตัว ที่เปรียบการเขียนเหมือนกับสมรภูมิแห่งหนึ่งในชีวิต เป็นธีม (Theme) ในงานนี้ แต่ละหัวข้อจึงเกี่ยวกับการต่อสู้ผสานกับการทำงาน
เช่น บทความนี้ เมื่อทำการวาง Outline ในช่วงแรก คือ
1.เริ่มต้นเขียนบทความจากศูนย์
- อธิบายเกี่ยวกับงานเขียน โดยระบุเกี่ยวกับเป้าหมายในการเขียน ว่าผู้อ่านจะต้องมีการคำนึงก่อนว่างานเขียนนี้ถูกเขียนเพื่อสิ่งใดเป็นหลัก
2.งานเขียนนี้เขียนเพื่อใคร
- ชี้ให้เห็นกลุ่มเป้าหมายในงานเขียน และย้ำเตือนว่าไม่ว่าจะเขียนงานอะไรมาก็ตาม เราจะมีกลุ่มเป้าหมายที่สนใจงานเราอยู่เสมอ
3.ไอเดียและความรู้ที่ใช้เขียนมาจากไหน
- แสดงเกี่ยวกับการกลั่นกรองไอเดีย อธิบายเกี่ยวกับ outline เบื้องต้น
4.การทลายกำแพงความ “ตัน” ในงานเขียน
- แบ่งปันประสบการณ์ในการแก้อาการตันสำหรับงานเขียน
5.อยากเขียน ต้องเขียน จงเขียน
- เชื้อเชิญให้ทุกคน “เขียน” ไม่ว่าจะเป็นงานแนวไหน
ย้ำนะครับว่า Outline ควรเขียนก่อนที่จะเขียนงาน เพราะมันเป็นการ “เริ่ม” และ “จบ” บทความหรือเรื่องราวของเราได้ โดยไม่ยืดเยื้อเกินไป และใช้ตรวจสอบด้วยว่าเราจะสามารถเขียนงานได้ตามที่
ต้องการสื่อได้จริงหรือเปล่า
“การเขียน Outline คือการรวมฝุ่นธุลีไอเดีย มาอัดเป็นก้อน ฝนทีละน้อย จนกลายเป็นหมึกแห่งจินตนาการชั้นเยี่ยม”
ที่เหลือคือเราแล้วว่าจะสรรค์สร้างงานเขียนของตัวเองมาในลักษณะไหน
แล้วถ้ายังเขียนไม่ออกอีก หัวข้อต่อไปมีคำตอบครับ
การทลายกำแพงความ “ตัน” ในงานเขียน
ตัน (Writer’s block) คือ อาการสร้างสรรค์ผลงานไม่ออก ซึ่งบทความนี้เราใช้กับการเขียนครับ
วิธีการแก้ตันนั้นไม่มีตายตัวครับ แต่สิ่งที่ผมแนะนำต่อไปนี้จะเป็นการย้อนกลับไปมอง “หมึก” เก่าๆ ของเราหรือของคนอื่น เพราะมันเคยเป็นตัวจุดระเบิดจินตนาการของเรามาแล้ว ทำไมมันจะทำอีกรอบไม่ได้ มา Break the walls down ไปด้วยกันครับ
1.ย้อนดู Outline
เราอยากเขียนอะไร เพื่ออะไรล่ะครับ เอาสิ่งที่เราอยากเขียน หัวข้อใหญ่ๆ ที่ต้องเขียนมานั่งย้อนดูซ้ำๆ จะช่วยตอกย้ำสิ่งที่เรามี ข้อมูลที่เราเคยค้นหา และทำให้เราสามารถเขียนบรรยายออกมาได้ง่ายขึ้นครับ
2. อ่านงานเขียนอื่นๆ
ใช่ครับ อ่าน คือ การแก้ตันที่ได้ผลมากเป็นลำดับต้นๆ เลย ไม่ว่าจะงานเก่าๆ ของตัวเอง งานคอนเทนต์อื่นๆ ข่าว หรือแม้แต่นิยาย เพราะการอ่านคือการเปิดจินตนาการอีกด้านที่ตรงข้ามกับการเขียนครับ เราต้องได้อะไรซักอย่างมาก่อนจึงสามารถเปลี่ยนมันเป็นสิ่งอื่นที่เหนือกว่าได้
โดยเฉพาะมือใหม่ที่เริ่มจากศูนย์ ถ้าให้ดีต้องอ่านให้หลากหลายครับ ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่ตัวเองชอบ หรืองานเขียนที่ตัวเองไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ เพราะจะทำให้เรารับรู้ถึงทัศนคติ การใช้ภาษา ความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะสามารถนำมาปรับใช้กับงานของเราได้ในอนาคตครับ
3.เขียน Mind Map
สุดยอดทางลัดตอนตันครับ เขียน Mind map นั่นเอง
บางคนอาจจะเกลียดจนถึงขั้นชิงชังมันเลย แต่ผมอยากบอกว่าเจ้า Mind map นี่ล่ะครับ ตัวช่วยชั้นเยี่ยม เราไม่จำเป็นต้องเขียนเกี่ยวกับบทความหรือสิ่งที่เราจะเขียนโดยตรง แค่เขียนหัวข้อที่ต้องการไปก่อน ตามด้วยจุดประสงค์การเขียน
หลังจากนั้นก็วาด ความคิด ความรู้สึก ณ ขณะนั้นของตัวเองลงไปใน Mind map ครับ จะชอบ จะเกลียด ความรู้ที่มี อะไรก็ตามที่คิดได้ในตอนนั้นลงไป เป็นการสร้างหนทางใหม่ๆ ในการเขียนของเรา แล้วค่อยเอา Mind map ที่ทำไว้มาดู แค่นั้นก็สามารถลดอาการตัน หรือเป่ามันจนกระจุยได้แล้วล่ะครับ
4.วิธีอื่นๆ
อย่างที่บอกว่าวิธีการแก้ตันไม่มีอะไรตายตัว นักเขียนดังๆ หลายคนก็มีวิธีแปลกๆ แก้ตันแตกต่างกันออกไป บางคนออกกำลังกาย บางคนทำอาหาร บางคนนั่งเล่นในห้องพักเงียบๆ
เราต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่า เรามีวิธีไหนที่ทำแล้วสบายใจ มีสมาธิ และมีจินตนาการไหลเวียนออกมามากที่สุด วิธีการนั้นๆ อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ตันของคุณก็ได้ครับ
อยากเขียน ต้องเขียน จงเขียน
สิ่งสุดท้ายสำหรับงานเขียน ง่ายๆ ครับ ถ้าอยากเขียน เขียนเลย ไม่ว่าจะเป็นสมุด ดินสอ ปากกา หรือโทรศัพท์ แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เคยเอาดินสอตัวเองมาเขียน Outline บทความบนหลังใบเสร็จเซเว่นมาแล้ว (อ๊ะ! แต่อย่าจดจ่ออยู่กับการเพลินจนไม่ได้ระวังตัวเองล่ะครับ โดยเฉพาะผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในการเขียนงาน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้)
ไม่มีวิธีไหนที่ใช้พัฒนาตัวเองได้ดีกว่าการเก็บประสบการณ์ตรงอีกแล้วครับ สนามวิชาการอาจต้องพึ่งพาการคำนวณและการวิเคราะห์ สนามรบอาจต้องพึ่งพาทหาร แต่สำหรับสมรภูมิการเขียน ทุกคนต่างมีสไตล์ที่แตกต่างกัน มีความรู้แตกต่างกัน แน่นอน มีเป้าหมายและความฝันที่ต่างกันออกไป งานเขียนนี่ล่ะครับที่จะช่วยดึงสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเราออกมามากที่สุด
ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีความฝันเกี่ยวกับงานเขียน ขอแค่คุณกำลังเขียนเพื่ออะไรซักอย่าง เพียงเท่านั้น เราก็ยืนอยู่ที่เดียวกันในฐานะนักเขียนแล้ว
ยินดีต้อนรับสู่สมรภูมิงานเขียนครับ
JUST WRITE IT
ps.ถ้าคุณสนใจเกี่ยวกับการทำคอนเทนต์ Marketing สามารถอ่านบทความอื่นๆ ของเราได้ที่ Our blog เลยครับ และถ้าต้องการบทความดีๆ เกี่ยวกับการตลาดเสิร์ฟถึงที่ ก็สามารถ Subscribe พวกเราได้เลย!!