วิกฤต “โควิด-19” (Covid-19) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของผู้คน แน่นอนว่าในฐานะนักธุรกิจ หรือผู้ที่อยู่ในสายงาน Digital Marketing การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญที่ท้าทาย และเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แต่เพียงผู้บริโภค หรือลูกค้าเท่านั้น แต่รูปแบบของการทำธุรกิจ การสื่อสารการตลาด การสื่อสารเรื่องราวขององค์กรก็นับว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันผู้บริโภคเช่นกัน
จากข้อมูลของ HubSpot ที่เก็บจากกลุ่มลูกค้าของ HubSpot กว่า 70,000 รายทั่วโลก เห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่วิกฤตอย่าง Covid-19 ภาพรวมธุรกิจเหล่าานั้น ล้วนมี Website Traffic ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในขณะที่เม็ดเงินในการใช้จ่ายกับเรื่องของการโฆษณาหรือ Ad Spending นั้นกลับลดลงเป็นอย่างมากเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดวิกฤต โควิด-19 ทำให้ภาพรวมของธุรกิจที่เน้นด้านการทำการตลาดออนไลน์ มีอัตราการเข้าถึงธุรกิจจากทางเว็บไซต์มากกว่าเดิมหลายเท่า การทำเว็บไซต์เพื่อให้พร้อมต้อนรับลูกค้าทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า ที่จะแวะเวียนมาทำความรู้จักเราในช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถออกไปไหนมาไหนได้
ในบทความนี้ จะมาสรุป Checklist 5 หัวข้อ เพื่อช่วยให้คุณตรวจเช็คและทำเว็บไซต์ธุรกิจของคุณให้พร้อมสำหรับการต้อนรับลูกค้าจากโลกออนไลน์
1. ทำเว็บให้เข้าถึงได้พร้อมที่จะใช้เป็นช่องทางสื่อสารหลักในโลกออนไลน์ (Availability, reliability, and stability)
เว็บไซต์ถือเป็นจุดเริ่มต้น หรือช่องทางหลักในการสื่อสารของธุรกิจออนไลน์ เนื่องจากเราสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสื่อสารได้
ในยามวิกฤต ที่ต้องมีการสื่อสารกับลูกค้าค่อนข้างมากกว่าปกติ เราจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องของความพร้อมในการเข้าถึงเว็บไซต์ โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ
1.การนำเสนอเนื้อหาและข้อมูลสำคัญในช่วงเวลาที่ต้องมีการสื่อสารมากกว่าเดิม สามารถพิจารณาการทำ Landing Page, Popup, Slidein เพิ่มเข้ามา เพื่อแจ้งข่าวสารที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าไปตามหาข้อมูลเหล่านั้นด้วยตัวเอง
2.ความเร็วในการโหลดหน้าเว็บ: ไม่ต้องรอให้เว็บล่ม ลูกค้าถึงจะหายไป แค่เว็บโหลดช้า (นานกว่า 5 วินาที) ลูกค้าก็พร้อมที่จะหนีจากเราไปหาคู่แข่งแล้ว ความเร็วในการโหลดเว็บไซต์จึงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ เราสามารถทดสอบว่าเว็บเราใช้เวลาดาวน์โหลดนานแค่ไหน (พร้อมบอกรายละเอียดการแก้ไข) ได้ที่ Google Page Speed
3.Downtime: ต้องมีการ monitor เว็บไซต์ว่ามีปัญหา หรือที่เรียกกันว่า ล่ม หรือเปล่า? โดยสามารถใช้เครื่องมือฟรีๆ อย่าง DownNotifier เพื่อใช้ Monitor เว็บไซต์ของเราได้
หากผู้ใช้หรือลูกค้าเข้ามาแล้วไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ ก็มีโอกาสที่เขาจะเปลี่ยนไปยังเว็บไซต์คู่แข่งอื่นได้ทันที
2. ทำเว็บให้เข้าถึงได้ง่ายจากทุกกลุ่มลูกค้า (accessibility)
Web Accessibility หมายถึงการทำเว็บไซต์เพื่อให้รองรับกับกลุ่มลูกค้าที่หลายหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีมีข้อจำกัดทางการรับรู้ การมองเห็น การฟัง รวมไปมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไว้ ซึ่งเว็บไซต์ที่จะรองรับการใช้งานสำหรับคนกลุ่มนี้ ต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษจึงจะสามารถตอบสนองการใช้งานได้
โดยหัวข้อหลักๆ ที่เราต้องคำนึงถึงก็จะมีเช่น
- รูปภาพ: ควรต้องมีคำอธิบายความหมายของภาพนั้นๆ ทุกภาพ (ยกเว้นรูปที่เป็น icon, หรือภาพประกอบเพื่อความสวยงาม ไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย)
- เสียงและวิดีโอ: หากมีการใช้เสียงหรือภาพเคลื่อนไหว ควรต้องมี caption หรือ transcript ด้วย และต้องเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ สามารถหยุด หรือปิดเสียงนั้นได้
- สี: การใช้สีระหว่างข้อความกับพื้นหลัง ต้องมีความแตกต่างเพียงพอ (contrast) เพื่อให้ผู้เข้าชมเว็บสามารถอ่านเนื้อหาเหล่านั้นได้
- ข้อความ: ผู้ใช้ต้องสามารถขยายขนาดของข้อความได้ โดยไม่กระทบกับการแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ (layout)
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานการทำเว็บไซต์เพื่อการเข้าถึง (Web Accessibility) ได้ที่ Web Content Accessibility Guidelines (WCAG)
3. ทำเว็บให้รองรับเรื่องความปลอดภัย และนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ (security and privacy)
ความปลอดภัยและนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้คืออีกหนึ่งหัวข้อที่เว็บไซต์ธุรกิจทุกเว็บไซต์ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ที่เป็น พรบ. กฏหมายที่ออกมาแล้ว (PDPA)
แล้ว PDPA คืออะไร สรุปสั้นๆ คือการที่เราต้องแจ้งผู้เข้าชมเว็บไซต์ให้ทราบว่า เราเก็บข้อมูลอะไรบ้าง มีการเอาข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ทำอะไรบ้าง และต้องให้ผู้เข้าชมรับรู้และยอมรับกับนโยบายนั้น ก่อนที่จะเข้าใช้งานเว็บไซต์
อ่านรายละเอียดเรื่อง PDPA ที่ สรุปกฏหมาย PDPA ที่คุณต้องรู้พร้อมแนวทางการปรับตัว
การทำเว็บไซต์ให้เป็น SSL ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าการส่งข้อมูลผ่านเว็บไซต์เราจะปลอดภัย ไม่ถูกโจมตีหรือดึงข้อมูลไปได้ ซึ่ง SSL ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานที่ทุกเว็บไซต์ต้องมี หากคุณใช้งาน Chrome Browser ก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าถ้าเข้าเว็บไหนแล้วไม่ได้เป็น SSL ทาง Chrome ก็จะขึ้นหน้าเตือนผู้ใช้ให้ทราบว่าเว็บไซต์นี้ไม่ปลอดภัย และยังจะตัดคะแนนเว็บไซต์เหล่านั้นลง ซึ่งมีผลต่อเรื่องของอันดับ SEO อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง SSL ได้ที่ แนะนำการทำเว็บไซต์ของคุณให้น่าเชื่อถือด้วย SSL และ HTTPS
4. ทำเว็บเพื่อให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดี (User Experience)
ส่วนหนึ่งของประสบการณ์คือการเข้าถึงเว็บไซต์ว่าสามารถทำได้ง่าย และรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายหรือเปล่าหากคุณได้ดำเนินการตามข้อ 2 เรื่องของ accessibility ก็ถือว่าได้มีส่วนที่ช่วยพัฒนาเรื่องของประสบการณ์ผู้ใช้ระดับพื้นฐานได้ระดับหนึ่งแล้ว
ในด้านการทำ User Interface(UI), User Experience (UX) จะเป็นการทำเว็บไซต์ธุรกิจที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้ หรือลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ ให้พยายามคิดว่า โจทย์การทำเว็บไซต์ให้เกิด UX ที่ดีนั้นไม่ได้ซับซ้อน วิธีการก็คือ ให้ลองคิดว่า หากเราเป็นลูกค้า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการในการเข้ามายังเว็บไซต์เรา และพยายามทำให้พวกเขาได้สิ่งเหล่านั้นได้ง่าย และเร็วที่สุด
ขั้นตอนแนะนำในการทดสอบว่า UX ของเว็บไซต์ปัจจุบันของคุณดีหรือไม่ก็คือการทำ Usability Testing ขึ้นมา
1.สรุปกลุ่มเป้าหมายหลัก 1-3 กลุ่ม และหาคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ 3-5 คนต่อกลุ่ม
2.สรุป Flow หลัก หรือการใช้งานหลักที่คนเหล่านั้นคาดหวังจะใช้จากเว็บไซต์ธุรกิจ
3.จัด Session ให้กลุ่มเป้าหมายทดลองใช้งานเว็บไซต์ตามโจทย์ที่ตั้งไว้ โดยอาจจะทำในรูปออนไลน์ เพื่อความรวดเร็ว
วิธีการทำ Usability Testing แบบนี้จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาเรื่องของการใช้งาน และได้รับ feedback โดยตรงจากกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เรานำเอาปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ต่อไป
5. ทำเว็บเพื่อมุ่งเน้นผลลัพธ์ด้าน SEO
การทำ SEO ไม่ได้มีแต่คอนเทนต์เท่านั้นที่สำคัญ ตัวเว็บไซต์ที่เปรียบเสมือนบ้านของเหล่าคอนเทนต์เองก็ถือเป็นองค์ประกอบที่ต้องใส่ใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะหากคุณมีคอนเทนต์ที่ดี แต่มีบ้านที่ไม่พร้อม ไม่ได้มาตรฐาน ก็ยากที่ไต่อันดับ SEO ได้
สิ่งที่คุณต้องเช็คว่าเว็บไซต์ของคุณสนับสนุนการทำ SEO แล้วหรือไม่ หลักๆ มีดังนี้
- สามารถที่จะใส่ Title, Description ให้กับทุกหน้าบนเว็บไซต์
- มีการวางโครงสร้างของหน้า Content เป็นระบบ เช่น มีการใช้ Tag มาตรฐานอย่างเช่น H1, H2, H3
- สามารถที่จะสร้างหน้าใหม่ เพื่อทำ content ได้ง่าย และจัด format ได้โดยไม่ต้องพึ่งพา Developer หรือมีส่วนที่เป็น blog เพื่อให้สามารถเขียนคอนเทนต์ใหม่ๆ ลงบนเว็บไซต์ได้
คุณสามารถเช็คว่าเว็บไซต์ของคุณมี SEO ที่ดีแล้วหรือไม่ จากการใช้เครื่องมืออย่าง woorank หรือ SEOptimer
ทุกวิกฤตมีโอกาส ให้กับผู้ที่เตรียมพร้อมและพร้อมปรับตัว
ในช่วงเวลาวิกฤตอย่าง Covid-19 อย่างนี้ หากธุรกิจที่มีเว็บไซต์อยู่แล้ว บทความนี้น่าจะช่วยให้คุณได้ Recheck หรือปรับแต่งเว็บไซต์ธุรกิจที่คุณมีอยู่ ให้พร้อมกับการเป็นศูนย์กลางการสื่อสารธุรกิจของคุณในโลกออนไลน์
แต่หากธุรกิจของคุณยังไม่มีเว็บไซต์ หรือมีเว็บไซต์ที่ทำไว้นานแล้ว ไม่พร้อมที่จะใช้งาน หรือคุณลองไล่ checklist ด้านบนแล้วพบว่า เว็บไซต์ธุรกิจของเรายังสอบตกทุกข้อ ถือเป็นเป็นโอกาสอันนี้ในช่วงนี้ ที่ลูกค้าอาจจะยังไม่พร้อมในการถูกขาย มาลงทุนลงแรงให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ของธุรกิจ เพื่อที่ว่าเมื่อตลาดค่อยๆ กลับคืนตัว ธุรกิจของคุณจะพร้อมให้บริการกับลูกค้าได้ทัน
แม้ในช่วงวิกฤต อาจจะทำให้เกิดการล้มหายตายจากของหลายต่อหลายธุรกิจ แต่ในทุกวิกฤตล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ ซ่อนอยู่เสมอ หากธุรกิจของคุณยังอยู่ได้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าโอกาสของธุรกิจของเราคืออะไร การให้ความสำคัญกับการทำเว็บไซต์ธุรกิจให้ดีขึ้น น่าจะเป็นการสร้างโอกาสหลายๆ ต่อหลายอย่างให้กับธุรกิจคุณในอนาคตอย่างแน่นอน
When written in Chinese, the word ‘crisis’ is composed of two characters. One represents danger and the other represents opportunity.
–John F. Kennedy