email-design-techniques
250
SHARE

5 เคล็ดลับ ออกแบบอีเมลอย่างไร ให้ผู้รับกลายเป็นลูกค้าในอนาคต!

คุณเคยลองสังเกตตัวเองไหมว่า หลังจากตื่นนอนตอนเช้า สิ่งที่คุณทำเป็นอย่างแรกๆ คืออะไร? เชื่อว่าหนึ่งในสิ่งที่คุณทำนอกจากหยิบมือถือมาดูนาฬิกานั้น น่าจะมีเรื่องการเช็คอีเมลรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นอีเมลอัปเดตงานจากลูกค้า อีเมลจากเพื่อนร่วมงานที่บริษัท หรือยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลแบบนี้ ก็มักจะมีอีเมลแจ้งโปรโมชั่นพิเศษจากร้านค้าที่เราเป็นสมาชิก หลายคนอาจจะเจอบางอีเมลที่หน้าตาแปลกๆ จนชวนให้นึกสงสัยว่าเอ๊ะ นี่มัน spam อีเมลหรือเปล่านะ? ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ spam อีเมลก็ได้

นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรใส่ใจในเรื่องการออกแบบอีเมลให้ดูน่าเชื่อถือ เพราะถ้าคุณเป็นคนที่ทำงานในสายดิจิทัล แล้วจำเป็นต้องสร้างอีเมลเพื่อส่งให้กลุ่มลูกค้าของคุณ หรือแม้แต่ผู้รับคนอื่นๆ ที่คาดว่าจะกลายเป็นลูกค้าในอนาคต คุณคงไม่อยากให้อีเมลของคุณถูกมองว่าเป็นอีเมล spam แล้วถูกลบทิ้งแบบไร้เยื่อใยอย่างแน่นอน

หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วถ้าไม่ได้เรียนในสายดีไซน์มา จะออกแบบอีเมลให้สวยได้เหรอ? ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะในบทความนี้ เรามี 5 เคล็ดลับในการออกแบบอีเมล ที่ทุกคนสามารถลงมือทำได้ง่ายๆ มาฝากกันค่ะ 🙂

1. Content ในอีเมลต้องตรงประเด็น

สิ่งสำคัญที่สุดในอีเมลก็คือ “เนื้อหา” ซึ่งเนื้อหาในอีเมลที่ดีนั้น ต้องเข้าใจง่าย กวาดสายตาไม่กี่วินาทีก็สามารถเข้าใจภาพรวมทั้งหมดของอีเมลได้แล้ว

อันดับแรกเลยคือ คุณต้องตั้งชื่อหัวข้ออีเมลให้ชัดเจน และเขียนเนื้อหาในอีเมลให้สอดคล้องกับหัวข้อนั้นๆ ด้วย แนะนำว่าในอีเมล 1 ฉบับนั้นควรโฟกัสเนื้อหาหลักๆ เพียงเรื่องเดียว  เช่น ถ้าอีเมลนี้เกี่ยวกับการชำระเงิน ก็ควรมีแค่ข้อมูลการชำระเงิน ไม่ควรใส่เนื้อหาเรื่องอื่นๆ มาแทรกในอีเมลนี้ เพราะจะทำให้ผู้รับอีเมลเกิดความสับสน สุดท้ายก็กลายเป็นไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรกันแน่ หรือถ้าหากว่าคุณมีเนื้อหาอื่นที่อยากส่งจริงๆ เราแนะนำว่าให้แยกไปเป็นอีกอีเมลเลยจะดีกว่าค่ะ

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างการเขียน Content อีเมลที่ดี และตัวอย่างไม่ควรทำกันค่ะ

ตัวอย่างอีเมลที่เขียน Content ได้ดี

 

อีเมลที่มี Content เพียงประเด็นเดียว จะทำให้เราสามารถรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นอีเมลเกี่ยวกับอะไร เห็นได้ชัดจากประโยคแรกในอีเมล ที่มีการเน้นขนาดตัวอักษรในส่วนนี้ให้ใหญ่กว่าส่วนอื่น

 

ตัวอย่างการเขียน Content อีเมลที่ไม่ควรทำตาม

ที่คุณเห็นอยู่นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีเมลนี้เท่านั้น ลองคลิกที่รูปเพื่อดูรูปเต็มดูสิคะ

 

2. จัด Layout ในอีเมลให้อ่านง่าย

ต่อเนื่องจากข้อแรก นอกจากจะข้อความในอีเมลควรมีแค่ 1 ประเด็นต่อ 1 ฉบับแล้ว การจัด Layout ก็ช่วยได้มากเช่นกัน

คุณรู้หรือไม่ว่า คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงแค่ไม่ถึง 15 วินาทีในการอ่านอีเมลแต่ละฉบับ บางคนมีงานที่ต้องทำเยอะแยะไปหมด

เพราะฉะนั้นคุณไม่ควรออกแบบอีเมลให้ยาวจนเกินไป สาเหตุที่ทำให้อีเมลคุณยาวเกินความจำเป็น อาจจะเพราะใช้ฟอนต์ขนาดใหญ่เกินไป หรือใช้คำในประโยคฟุ่มเฟือยเกินไปจนทำให้ประโยคยาวเหยียด คุณเลยต้องจัด space ตัวหนังสือให้ชิดกันมากๆ เพื่อให้มันดูสั้นลง แต่พอเป็นแบบนี้แล้ว ยิ่งทำให้อีเมลคุณอ่านยากขึ้นไปอีก วิธีแก้ปัญหาในส่วนนี้ง่ายนิดเดียวค่ะ

  1. พยายามใช้คำให้กระชับ ตัดประโยคให้สั้นที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ (แต่ต้องให้อ่านรู้เรื่องด้วยนะ)
  2. เว้น space และแบ่ง section ของแต่ละส่วนในอีเมล เช่น ส่วนหัวเรื่องที่เป็นคำทักทาย ส่วนเนื้อหาอีเมล และส่วนท้าย (อาจจะเป็นส่วนข้อมูลติดต่อ)
  3. ปรับขนาด Font ในอีเมลให้พอดี โดยขนาดที่แนะนำจะอยู่ที่ประมาณ 14px-16px แล้วแต่ความยาวของเนื้อหา ถ้าเนื้อหาค่อนข้างยาว ให้ใช้ฟอนต์ขนาด 14px แต่ถ้ามีแค่ไม่เกิน 2-3 ประโยค สามารถใช้ขนาด 16px ได้ค่ะ (สำหรับขนาดฟอนต์ในหน้าจอมือถือ อาจจะต้องปรับให้ใหญ่กว่าขนาดจอคอมพิวเตอร์ปกตินิดหน่อย แนะนำให้ใช้ขนาด 18px ค่ะ)

ตัวอย่างการจัดวาง Layout ที่ไม่ควรทำ

จะเห็นได้ว่าอีเมลนี้มีการจัดวาง Layout ค่อนข้างไม่เป็นระเบียบ ต้องใช้เวลากวาดสายตาอ่านเนื้อหาพอสมควร สิ่งที่ควรเน้นให้เห็นชัดอย่าง Promo Code ก็ไปซ่อนอยู่มุมด้านขวา และใช้ตัวหนังสือค่อนข้างเล็ก

และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่าง ที่ดูแวบแรกแล้วเกิดความรู้สึกว่าเนื้อหาเยอะไปไหมนะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเนื้อหาไม่ได้เยอะมาก แต่การจัดวางน้ำหนักของเนื้อหาแต่ละส่วนดูสะเปะสะปะ  ไม่ได้เว้น space หรือแบ่งข้อความเป็น section ดังนั้น elements ต่างๆ จึงแย่งกันเด่นไปหมด ทำให้ผู้รับที่ได้รับอีเมลนี้เกิดความสับสนไม่รู้ว่าควรจะทำอะไรกับอีเมลนี้กันแน่

 

3. อย่าลืมใส่ Branding ของคุณไว้ในอีเมลด้วย

เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและให้ผู้รับอีเมลทราบได้ในทันทีว่า อีเมลฉบับนี้ถูกส่งมาจากไหน อย่าลืมใส่โลโก้บริษัทของคุณลงไปด้วย นอกจากนี้ การใช้สีที่เป็น Branding หลักของบริษัท ก็จะทำให้อีเมลคุณมีเอกลักษณ์มากขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวังเรื่องสีก็คือ การวางสัดส่วนของสีให้เหมาะสมและลงตัว หากว่าบริษัทของคุณมีสีประจำบริษัททั้งหมด 5 สี คุณก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้สีทั้งหมด

ลองจินตนาการดูว่าเวลาผู้รับเปิดอีเมลของคุณขึ้นมาแล้วเจอตัวหนังสือสีเขียวอยู่บนพื้นหลังสีแดง เลื่อนลงมาด้านล่างเจอปุ่มสีเทาอ่อน แถมยังมีโลโก้บริษัทสีสันฉูดฉาดแปะอยู่ทั้งบนสุดและล่างสุดของอีเมล… ไม่แปลกหากผู้รับจะนึกเอะใจขึ้นมาว่า “เอ๊ะ นี่มัน spam หรือเปล่านะ?”

เคล็ดลับในการใช้สีในอีเมลก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องใช้สีทั้งหมดก็ได้ เลือกเฉพาะสีหลักๆ ประมาณ 1-2 สี เพื่อมาใช้สำหรับเน้นเฉพาะบางจุดเท่านั้นก็พอ เช่น สีหัวข้อหลัก หรือสีปุ่ม เป็นต้น ส่วนที่เหลือก็ให้ใช้เป็นตัวหนังสือสีดำหรือเทาเข้มบนพื้นสีขาว จำไว้ว่า ยิ่งคุณใช้สีน้อยเท่าไหร่ อีเมลของคุณก็จะดูสะอาดตา สบายตา อ่านได้ง่าย กลุ่มผู้ที่ได้รับอีเมลของคุณก็จะรู้สึกดีกับอีเมลคุณด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างการใส่ Branding ในอีเมล

(ตัวอย่างอีเมลของ H&M)

 

(ตัวอย่างอีเมลแจ้งโปรโมชั่นของ Grab)

Tips เรื่องสี

ถ้าหากว่าคุณอยากลองฉีกแนว ไม่อยากใช้สีตาม Branding ของคุณ หรือว่าคุณยังไม่มีสีที่ใช้อยู่ประจำล่ะก็ ลองอ่านบทความ พูดจาภาษาสีกับดีไซน์เนอร์ เผยตัวช่วยบรีฟ “โทนสี” ขั้นเทพ!! ของน้องนุช กราฟิกดีไซน์เนอร์คนเก่งจาก Magnetolabs ของเราเอง รับรองว่าคุณจะได้ไอเดียในการใช้สีเยอะแยะเลยทีเดียวค่ะ

 

4. รูปภาพในอีเมลก็สำคัญนะ

รูปภาพเป็นสิ่งที่สื่อสารได้เร็วกว่าตัวหนังสือ และยังดึงดูดความสนใจของคนได้ดี ถ้าคุณรู้สึกว่าอีเมลที่คุณออกแบบออกมาแล้วยังดูโล่งๆ เหมือนขาดอะไรไป ดูรวมๆ แล้วยังไม่น่าสนใจเท่าที่ควร ลองเพิ่มรูปภาพลงไปในอีเมลดูสิ และอย่าเพิ่งกังวลไปว่า จะไปหารูปภาพสวยๆ มาจากไหน งบในการซื้อภาพ stock ก็ยังไม่มี เราไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพซะด้วย กลัวถ่ายภาพออกมาแล้วไม่สวยเหมือนที่คิด.. บอกแล้วว่าอย่าเพิ่งกังวลค่ะ เพราะทุกวันนี้มีเว็บไซต์ดาวน์โหลดภาพความละเอียดสูง ที่คุณสามารถนำมาใช้ในอีเมลได้ฟรี ซึ่งเว็บที่คนนิยมใช้กันมีอยู่ 3 เว็บ คือ

1. Unsplash

 

2. Pexels

 

3. Pixabay

ลองไปโหลดมาใช้กันดูนะคะ 🙂

เมื่อคุณได้รูปภาพสำหรับอีเมลของคุณแล้ว อย่าลืมดูเรื่องขนาดของรูปภาพด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ขนาดของอีเมลที่เราใช้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ความกว้างจะอยู่ที่ประมาณ 600px ส่วนความสูงขึ้นอยู่กับเนื้อหาของแต่ละอีเมล เพราะฉะนั้นเวลาคุณทำรูปภาพสำหรับอีเมล ควรทำให้ขนาดรูปภาพพอดีกับความกว้างของอีเมลด้วยด้วยนะคะ

Tips การใส่รูปภาพในอีเมล

  • รูปภาพที่ใช้ควรเป็นไฟล์ PNG หรือ JPG โดยถ้าคุณอยากใช้ภาพที่ไม่มีพื้นหลังให้ save รูปภาพเป็นไฟล์ PNG
  • ค่าสีที่ใช้บนเว็บไซต์ ควรตั้งค่าเป็น RGB (ส่วนค่าสี CMYK มีไว้สำหรับใช้ในงานพิมพ์ค่ะ)
  • ขนาดของไฟล์รูปภาพไม่ควรจะใหญ่หรือเล็กเกินไป เพื่อไม่ให้ใช้เวลาโหลดนานหรือภาพเบลอ ขนาดที่เหมาะสมอยู่ที่ ไม่เกิน 1 MB

และสิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้เลยเมื่อคุณออกแบบอีเมลก็คือ

 

5. อย่าลืม Call-to-Action

“Call-to-Action” หรือ “CTA” แปลตรงตัวเลยก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการทำอะไรบางอย่าง ซึ่ง CTA ที่คุณสามารถเห็นได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ก็จะมี Sign up, Subscribe หรือ Buy now เป็นต้น Call-to-Action ในอีเมลก็ไม่ต่างกันค่ะ คือมีไว้เพื่อให้ผู้รับอีเมลรู้ว่า คุณอยากให้พวกเขาทำอะไรต่อ ซึ่งคุณสามารถแทรก CTA เหล่านี้ไว้ได้ทั้งในรูปแบบปุ่ม ข้อความบนรูปภาพ หรือแม้แต่ข้อความที่เป็นลิงก์ธรรมดาก็ได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคุณค่ะ

ความชัดเจนของ CTA เองก็เป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำคัญของมัน หมายความว่า ยิ่งคุณวางตำแหน่ง CTA ให้ผู้อ่านเห็นได้ชัดมากเท่าไหร่ ก็แสดงว่าความสำคัญของมันยิ่งมากเท่านั้น  แล้วควรทำอย่างไรถ้าอยากจะให้ CTA มีความโดดเด่นและดึงดูดสายตา?

1. เว้น space รอบๆ CTA หรือวางอยู่ในจุดที่สามารถเห็นได้ชัด

 

2. เพิ่มสีสันลงไป เช่น ถ้า CTA ของคุณเป็นปุ่มกด ก็ให้ใช้สีปุ่มที่แตกต่างจากจุดอื่นๆ ในอีเมล

 

3. ใช้ข้อความที่สั้น กระชับ และมีความหมายที่กระตุ้นให้ผู้อ่านอยากคลิก

ข้อควรระวัง

ในอีเมล 1 ฉบับ ไม่ควรมี Call-to-Action มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดความลังเลที่จะคลิก

 

สรุป

จริงๆ แล้ว การออกแบบอีเมลไม่มีกฎที่ตายตัวเสมอไปค่ะ เพราะรูปแบบของอีเมลนั้นมีเยอะแยะมากมาย เพียงแต่ว่าในบทความนี้ เราได้รวบรวมเคล็ดลับและพื้นฐานที่ควรรู้ เพื่อที่คุณจะสามารถนำไปต่อยอดในการดีไซน์อีเมลของคุณเองได้ค่ะ

หลังจากอ่านบทความนี้จบ คิดว่าคุณเองก็คงจะเริ่มมีไอเดียในการออกแบบอีเมลของคุณแล้วใช่ไหมคะ แต่สำหรับใครที่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี เรามีตัวช่วยมาให้ ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ Really Good Emails ดูค่ะ เว็บไซต์นี้เป็นเว็บที่รวบรวมอีเมลรูปแบบต่างๆ ไว้เยอะแยะมากมาย ซึ่งผู้เขียนเองเข้าไปดูอยู่เป็นประจำ เพราะเวลาที่จะเริ่มต้นดีไซน์อีเมลซักอัน ก็ต้องเริ่มจากการหา Inspirations ก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจึงค่อยเริ่มดีไซน์อีเมลของตัวเอง อย่าลืมลองเข้าไปดูกันนะคะ

ถ้าคุณมีข้อสงสัย หรือมีไอเดียอื่นๆ ที่อยากจะแชร์ สามารถคอมเมนต์ที่ใต้บทความนี้ได้เลยนะคะ 🙂

New call-to-action

Author

Nithita

UX/UI Designer ตาชั้นเดียวแห่ง Magnetolabs ชอบหาอะไรมา Challenge ตัวเองเพื่อให้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ตอนกลางวันเป็นมนุษย์ออฟฟิศธรรมดา ตกกลางคืนกลายร่างเป็นทาสแมว เป็นคนมองโลกในแง่ดีมากกกกก :)
UX/UI Designer ตาชั้นเดียวแห่ง Magnetolabs ชอบหาอะไรมา Challenge ตัวเองเพื่อให้มีการพัฒนาอยู่เสมอ ตอนกลางวันเป็นมนุษย์ออฟฟิศธรรมดา ตกกลางคืนกลายร่างเป็นทาสแมว เป็นคนมองโลกในแง่ดีมากกกกก :)

Related Blog

Leave Your Comment