ทักษะการสื่อสาร
SHARE

เทคนิคการสื่อสารกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ พูดให้น้อย ฟังให้เยอะ

การสื่อสาร หมายถึง การบอกกล่าวสิ่งที่คิด หรือสิ่งที่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ หลายครั้งที่เราพูดถึงคำนี้จะคิดว่าคนที่สื่อสารเก่ง จะต้องเป็นคนพูดเยอะ พูดเก่ง แต่ที่จริงแล้วเคล็ดลับของผู้ที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลับเป็นเรื่องของ “การฟัง” เสียมากกว่า

ทำไมการฟัง ถึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องการพูดได้?

ปัญหาในเรื่องการพูดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดจากการเข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อสารผิด เช่น การตอบไม่ตรงคำถาม การอธิบายสิ่งที่คิดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ฉะนั้นการจับประเด็นสำคัญของสิ่งที่เราต้องการพูด และสื่อสารตรงไปยังประเด็นนั้น จึงเป็นการสื่อสารที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทักษะการสื่อสาร

แล้วเราจะพัฒนา “การสื่อสาร” อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ?

ในส่วนนี้ เรามีตัวอย่างของการขัดเกลาทักษะการฟังที่ดี ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ก่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมาฝากอีกด้วย อันได้แก่

1.มองหน้า จ้องตา ผู้พูดขณะทำการสื่อสารอยู่

ในการสื่อสารกัน การที่เรามองสีหน้าท่าทาง รวมถึงสายตาของคู่สนทนา จะทำให้เราได้รับสารที่ค่อนข้างครบถ้วนด้วย ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของเขา ณ ขณะที่เล่า หากเราสังเกตโดยเก็บรายละเอียด อาจรู้ได้ถึงความรู้สึกของเขา ต่อเรื่องที่เขาเล่าในแต่ละส่วนอีกด้วย

2.รับฟังอย่างตั้งใจ แต่ต้องสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการสื่อสารด้วย

หากเป็นสนทนาที่จริงจัง เป็นไปได้ที่บรรยากาศโดยรอบขณะทำการสื่อสาร อาจเต็มไปด้วยความตึงเครียด การจัดการกับบรรยากาศในการเล่าเอง ก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของผู้ฟังที่ดีเช่นเดียวกัน ในส่วนนี้เราอาจทำได้ด้วยกันหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งบรรยากาศห้อง หรือการวางตัวขณะรับฟัง อาทิ ยิ้มแย้มแจ่มใสหรือ หาเครื่องดื่มเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ 

3.มีทัศนคติเปิดกว้างต่อความคิดเห็นของผู้พูด ไม่ตัดสินก่อนจบ

การฟังที่ดี คือการฟังโดยไม่ตัดสินความก่อนจะฟังข้อความจบ ฟังอย่างเป็นกลางและมีทัศนคติที่เปิดรับความเห็นที่ต่างจากตัวเอง และให้คำปรึกษาได้จากทั้งมุมมองของเรา และมุมมองของผู้เล่า

4.มองให้เห็นภาพเดียวกัน กับผู้พูด

เช่นเดียวกับข้อ 3 การมีทัศนคติที่ดีในการรับฟังคือต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ความเข้าอกเข้าใจ ผู้อื่น สิ่งๆนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการเปิดรับความคิดเห็นของผู้พูด หากเราสามารถเข้าใจมุมมองของผู้เล่า และหากใช้จินตนาการ เราอาจสามารถเห็นภาพที่ผู้เล่ากำลังเห็นอยู่ได้ เช่นเดียวกันอีกด้วย

5.อย่าขัดจังหวะ ระหว่างผู้พูดกำลังเล่าเรื่อง

การขัดบทพูดของผู้เล่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นที่สุดในเรื่องของการสื่อสาร เพราะนอกจากจะเป็นการเสียมารยาทแล้ว ยังเป็นการตัดอารมณ์ของผู้พูดอย่างมากอีกด้วย อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจว่า เรากำลังฟังสิ่งที่เขาพูดอยู่จริงๆหรือไม่ หรือร้ายที่สุด อาจทำให้ผู้พูดเลิกเล่าเรื่องไปเสียดื้อๆก็เป็นได้

ทักษะการสื่อสาร

6.ถามคำถามได้ สำหรับส่วนที่ไม่เข้าใจ

สำหรับในเรื่องของการสื่อสาร การถามคำถามในเรื่องที่ผู้พูดเพิ่งจะพูดไป ไม่ได้เป็นการสื่อว่าเราไม่เข้าใจ ในสิ่งที่เขาเล่า แต่เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความต้องการที่จะเข้าใจอย่างแท้จริง ฉะนั้นหากขณะทำ
การสื่อสารอยู่ มีจุดไหนที่เราสงสัย หรือคิดว่าเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้พูด เราควรรอให้เขาพูดให้จบเสียก่อน จากนั้นจึงถามคำถาม

7.จงมองหา “คำพูดที่ไม่ได้พูด”

ในการรับฟังข้อมูลต่างๆ อีกสิ่งหนึ่งที่คนมักจะมองข้ามคือ ข้อความที่ผู้พูดต้องการสื่อสารออกมา แต่อาจจะแฝงอยู่ในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ เช่น อาจเป็นน้ำเสียงของผู้เล่าที่อ่อนลงในขณะที่กำลังพูดถึงเรื่องที่ลำบากใจอยู่ แสดงให้เห็นว่าเขามีอารมณ์อ่อนไหวกับเรื่องราวดังกล่าว เป็นต้น

“การรับฟัง” กับ “การได้ยินผ่านหู” ต่างกันอย่างไร?

การแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของคำสองคำนี้ง่ายที่สุด คงเป็นการยกตัวอย่าง สมมุติว่ามีคนมาเล่าให้เราฟังว่า “วันนี้เบื่อจัง.. ไม่อยากทำงานเลย” หากฟังผ่านๆ ก็อาจคิดได้ว่า เขาเป็นคนขี้เกียจ หรือเป็นคนหมดไฟ แต่หากเราตั้งใจฟัง เราจะมีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมเขาจึงรู้สึกอย่างนี้? หากพูดคุยประเด็นนี้กับเขา เราอาจได้คำตอบว่า “วันนี้ฉันป่วย” หรือ “ตอนเดินทางมาทำงานวันนี้ วุ่นวายมากเลย” ความรู้สึกและมุมมองที่เรามีต่อเขาก็อาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

สรุป

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพูด หรือการฟัง สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของความตั้งใจ ที่จะจดจ่ออยู่กับประเด็นของสิ่งที่เราพูดคุยอยู่ ในมุมของผู้เขียนบทความ สุดท้ายการพูดที่ดี ไม่ใช่การพูดที่มากความเวิ่นเว้อ แต่เป็นการพูดตรงไปยังประเด็นที่ต้องการสื่อ เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมกับอุปนิสัยและบทบาทของผู้ฟัง

แหล่งอ้างอิง
10 steps to effective listening

New call-to-action

New call-to-action

Author

Thanawat Bhocasathit

Account Executive ของ Magnetolabs ชื่นชอบการท่องเที่ยวและดนตรี สนุกสนานไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาทั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน
Account Executive ของ Magnetolabs ชื่นชอบการท่องเที่ยวและดนตรี สนุกสนานไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาทั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน

Related Blog

Leave Your Comment