SHARE

ทำอย่างไรเมื่อต้องโน้มน้าวผู้บริหารที่ไม่เปิดใจรับเทคโนโลยี?

ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้น เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด คน Gen Y (ผมอยู่ Gen นี้) หรือ Gen Z ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีนั้นอาจจะไม่ได้รับผลกระทบสักเท่าไหร่เพราะเติบโตมากับมัน แต่สำหรับคนรุ่น Gen X หรือ Baby Boomer ที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีในสมัยก่อนนั้น การที่จะให้พวกเขาปรับตัวให้ทันนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ส่งผลมาถึงตอนทำงาน เหล่า Gen X และ Baby Boomer นั้นเป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหาร มีความรู้ในธุรกิจ และมีประสบการณ์มาก แต่อาจจะไม่มีความรู้ ความเข้าใจเท่าทันในเทคโนโลยีมากนัก ซึ่งส่งผลให้เทคโนโลยีที่ทาง Gen Y หรือ Gen Z เอาไปเสนอนั้นไม่ได้รับผลตอบรับจากผู้บริหารดีเท่าที่ควร

บทความนี้เขียนมาเพื่อเหล่า Gen Y และ Gen Z โดยเฉพาะ รับรองว่าคุณจะสามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปโน้มน้าว Gen X และ Baby Boomer ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

แต่ถ้าคุณเป็น Gen X และ Baby Boomer แล้วกำลังอ่านบทความนี้อยู่ ผมคิดว่าคุณน่าจะเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อในเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นคุณก็สามารถใช้เทคนิคในโพสต์นี้ในการโน้วน้าว Gen X และ Baby Boomer คนอื่นได้เช่นเดียวกัน

* บทความนี้เป็นการกล่าวถึงมุมมองในภาพใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่าง “วัย” และ “การเปิดรับเทคโนโลยี” แน่นอนว่าไม่ใช่ Gen X และ Baby Boomer ทุกคนที่จะก้าวไม่ทันเทคโนโลยีนะครับ

** บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นจาก Firsthand Experience สักเท่าไหร่ เพราะ 1. คือผมไม่ได้ทำงานภายใต้ผู้บริหารที่มีอายุมานานมากแล้ว 2. จากในอุตสาหกรรมที่ผมอยู่ (การตลาดแบบดิจิทัล) คนที่ผมคุยด้วยแทบจะทุกคนนั้นมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ และมุมมองต่อเทคโนโลยีที่ดีอยู่แล้ว อาจจะมีบ้างที่ไม่ทันเทคโนโลยี แต่ก็ไม่เยอะเท่าไหร่

5 เทคนิคในการโน้มน้าวผู้บริหารที่ไม่เปิดใจรับเทคโนโลยี

1. โน้มน้าวด้วย “ตัวเลข”

ตัวเลขคือเวทย์มนตร์

การพยายามพร่ำบอกฟีเจอร์ ความดี ความเจ๋ง ของเทคโนโลยีให้กับผู้บริหารนั้นอาจจะดูว้าว แต่ผมคิดว่าผู้บริหารหลายๆ คนน่าจะต้องการอยากเห็นผลของ ฟีเจอร์ ความดี ความเจ๋ง นั้นๆ มากกว่าครับ

ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่จะเป็นตัวบอกผลลัพธ์ของเทคโนโลยีที่คุณเอาไปนำเสนอได้ดีที่สุดอย่างนึงก็คือ “ตัวเลข” ครับ

คุณอาจจะต้องย่อย ฟีเจอร์ ความดี ความเจ๋ง ของเทคโนโลยีเหล่าน้ันมาเป็นการประมาณการทางตัวเลข เช่น ถ้าคุณมีซอฟท์แวร์บัญชีที่จะมาใช้แทนกระดาษ คุณก็อาจจะนำเสนอผู้บริหารประมาณว่า “ปัจจุบัน ถ้าใช้กระดาษทำบัญชี ทีมบัญชีของเราจะต้องใช้เวลาในการทำบัญชี A ชั่วโมง คิดเป็นเงิน B บาท และคุณต้องใช้กระดาษคิดเป็นเงิน C บาท แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ซอฟท์แวร์บัญชี จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชี และค่ากระดาษนั้นลดลง D บาทภายในระยะเวลา E เดือน”

ถ้าคุณทำตัวเลขออกมาได้ดีๆ คุณจะมีพลังเสกเวทมนตร์ให้ผู้บริหารเชื่อได้ครับ 🙂

2. โน้มน้าวด้วย “คู่แข่ง”

ไม่มีใครที่จะผลักคุณให้ก้าวหน้าได้เร็วเท่าคู่แข่งของคุณ

ในหัวข้อที่แล้วที่เกี่ยวกับการโน้มน้าวด้วย “ตัวเลข” เป็นการโน้มน้าวด้วยข้อเท็จจริง แต่การโน้มน้าวด้วย “คู่แข่ง” ในข้อนี้จะเป็นการโน้มในเชิงจิตวิทยาครับ

ลองเปิด Google แล้วค้นหาเว็บไซต์ของคู่แข่ง หรือลองไปหาวิธีตามสืบดูว่าคู่แข่งของบริษัทคุณนั้นใช้เทคโนโลยีอะไรเจ๋งๆ ที่คุณอยากจะเสนอผู้บริหารบ้างรึเปล่า ถ้าสืบจนพอทราบแล้ว คุณก็อาจจะเข้าไปคุยกับผู้บริหารโดยใช้หลักการทางจิตวิทยาบางอย่างเข้าช่วยเช่น “ผมไปลองดูบริษัท A ซึ่งเป็นคู่แข่งของเรามาแล้ว ในตอนนี้เขากำลัง Implement เทคโนโลยีใหม่ซึ่งจะช่วยให้เขาทำ B, C และ D ได้ ซึ่งถ้าเราไม่พิจารณาเรื่องการ Implement เทคโนโลยีแบบนั้นบ้าง มันอาจจะทำให้เราตามหลังเขาในแง่ E, F และ G ได้ครับ”

ถ้าโน้มน้าวด้วยเหตุผลไม่ได้ ก็ต้องโน้มน้าวด้วยอารมณ์

3. โน้มน้าวด้วย “Quick Win”

ง่าย เร็ว ดี ไม่มีใครไม่ชอบ

เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ล้ำสมัย และบ่อยครั้งคนที่ไม่ได้คลุกคลี หรือเข้าใจมันจริงๆ จะเห็นประโยชน์ หรือถ้ามองในมุมมองของผู้บริหาร การที่เขาจะต้องรอผลลัพธ์จากการใช้เทคโนโลยีเป็นหลักเดือน หรือหลักปี มันอาจจะนานเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณสามารถเริ่มต้นด้วยการนำเสนอสิ่งที่เป็น “Quick Win” ให้ผู้บริหารเห็นภาพ หรือเห็นผลลัพธ์ในช่วงสั้นๆ ก่อนก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีในการโน้มน้าวให้ผู้บริหารลองเชื่อคุณดู

ผมขอใช้ตัวอย่างซอฟท์แวร์บัญชีของข้อ 1 นะครับ วิธีการโน้มน้าวในข้อนี้อาจจะเป็น “ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ซอฟท์แวร์ช่วยทำบัญชีตัวนี้ มันจะทำให้ปัญหาเรื่องการลืมวางบิลลูกค้านั้นหมดไป ส่งผลให้บริษัทของเราสามารถเก็บเงินลูกค้าได้ตรงเวลาทุกครั้ง”

ขายฝันเป็นสิ่งที่ดี แต่ขายความจริงที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็วบางครั้งมันอาจจะดีกว่า

4. โน้มน้าวด้วย “Case Study”

ตัวอย่างจะทำให้ผู้บริหารของคุณไม่รู้สึกเดียวดาย

หลายๆ ครั้ง สิ่งที่ผู้บริหารต้องการเห็นคือตัวอย่าง Case Study หรือกรณีศึกษาในการใช้เทคโนโลยีแล้วประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะตัวอย่างจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศ (หรือประเทศใกล้เคียง)

วิธีการค้นหา Case Study ที่ง่าย และเร็วที่สุดก็คือถามจากผู้ผลิตเทคโนโลยีนั้นๆ นั่นแหละ

จากนั้นคุณก็เอากรณีศึกษาที่ทางผู้ผลิตเทคโนโลยีนั้นๆ ให้มาไปคุยกับผู้บริหารของคุณ รับรองว่าผู้บริหารของคุณจะเปิดใจง่ายขึ้นอีกเยอะเลย

ถ้าคนอื่นทำสำเร็จ บริษัทของคุณก็ (อาจจะ) ทำสำเร็จได้เหมือนกัน

5. โน้มน้าวด้วย “Small Team”

ถ้าเปลี่ยนมันยากนัก ก็เริ่มจากทีมเล็กๆ ก่อน

ถ้าคุณกำลังทำงานอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีพนักงานแบบ Gen X หรือ Baby Boomer จำนวนมาก การที่จะไปเปลี่ยนความคิด หรือวิธีการทำงานของพวกเขา มันคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแน่ๆ

คำแนะนำของผมคือคุณอาจจะเริ่มจากการ Implement เทคโนโลยีนั้นๆ ในทีมเล็กๆ ก่อน จากนั้นค่อยเอาผลลัพธ์ไปแสดงให้ผู้บริหารเห็นเพื่อที่จะโน้มข้าวพวกเขาต่อไป

การทดลองนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการขอ “Free Trial” ผู้ผลิตเทคโนโลยี ถ้าเป็น Software หลายๆ เจ้าก็อาจจะใช้คุณทดลองใช้ดูสัก 15-30 วัน หรือถ้าเป็น Hardware บางเจ้าก็อาจจะใช้วิธีส่งของมาให้คุณทดลองใช้ดู

วิธีนี้อาจจะใช้ไม่ได้ทุกเคสต์ เพราะเทคโนโลยีบางตัวนั้นอาจจะมี “ค่าใช้จ่ายในการทดลอง” ที่สูงจนเกินไป

สรุป

การทำให้ผู้บริหารเปิดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจผู้บริหาร จากนั้นก็เริ่มพูดคุย และสื่อสาร ถ้าคุณสามารถจับจุดได้ถูกเกี่ยวกับเหตุผลที่ผู้บริหารไม่อยากจะใช้เทคโนโลยี และทำการยิงไปให้ตรงจุด คุณจะมีโอกาสโน้มน้าวผู้บริหารให้เปิดใจกับเทคโนโลยีได้มากยิ่งขึ้น และเมื่อรวมความรู้ความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับเทคโนโลยี และประสบการณ์ทางธุรกิจของผู้บริหารแล้ว บริษัทของคุณจะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจได้อย่างแน่นอน 🙂

คุณเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยยังไงกับบทความนี้ มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์ได้นะครับ

New call-to-action

Author

Sitthinunt

Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast
Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast

Related Blog

Leave Your Comment