17
SHARE

ทำความรู้จักกับ “Adblock” เทคโนโลยีแห่งการปิดกั้นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ

คุณเคยเข้าไปในเว็บไซต์ที่มีแบนเนอร์โฆษณาอยู่เต็มไปหมดเลยไหมครับ? หรือคุณเคยเล่น Facebook ไถ Feed ดูเรื่องราวของเพื่อนๆ อยู่ แต่กลับดันมีโฆษณาที่คุณได้ไม่สนใจมาคั่นไว้บ้างรึเปล่า?

ผมเชื่อว่าคุณต้องเคยแน่ๆ และไม่ใช่แค่คุณคนเดียว คนเกือบทุกคนบนโลกนี้ก็เคยเจอเรื่องราวแบบนี้มาเหมือนๆ กัน ปัญหาการถูกยัดเยียดให้ดูในสิ่งที่ไม่ได้อยากดู ฟังในสิ่งที่ไม่ได้อยากฟังนั้นทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เอามาแก้ปัญหานี้

เทคโนโลยีนี้เรียกว่า “Adblock” ครับ

ในบทความนี้ ผมจะมาอธิบายให้ฟังว่า Adblock มันคืออะไรกันแน่ รูปร่างหน้าตามันเป็นยังไง และทำไมคุณถึงควรสนใจเรื่องนี้ ตลอดจนวิธีการรับมือกับเรื่องนี้

ผมรับรองว่าคุณจะได้ประโยชน์ครับ 🙂

Adblock คืออะไร?

Adblock เป็นซอฟท์แวร์ที่จะปิดกั้นโฆษณาที่คุณไม่อยากเห็นจาก Web Browser ของคุณ ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณทำการติดตั้งซอฟท์แวร์นี้ไว้ที่เครื่องของคุณ เมื่อคุณเข้าไปท่องเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีโฆษณา (เช่นพวก Google Adsense, Taboola หรือ Ad Network อื่นๆ หรืออาจจะหมายความรวมไปถึง Popup หรืออะไรก็ตามแต่ที่จะแสดงขึ้นมาแล้วเป็นการรบกวนคุณ) ตัวซอฟท์แวร์นั้นจะทำการปิดกั้นโฆษณา

ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการทำปิดกั้นโฆษณามีชื่อว่า Adblock Plus นอกจากนั้นแล้วยังมีซอฟท์แวร์ที่ใช้ปิดกั้นโฆษณาบน Facebook เช่นกัน ซึ่งตัวนี้ชื่อว่า Ad Blocker for Facebook (สำหรับ Chrome เท่านั้น)

สถิติการใช้ซอฟท์แวร์ปิดกั้นโฆษณา

สถิติจาก Pagefair นั้นค่อนข้างมีความน่าสนใจโดยจาก Report ของพวกเขานั้นบอกไว้ว่า

1. ในปี 2016 มี Device (น่าจะรวมทั้ง Desktop, Tablet และ Mobile) ที่ใช้งานซอฟท์แวร์การปิดกั้นโฆษณานั้นมากกว่า 615 ล้านเครื่องทั่วโลก

2. สำหรับการปิดกั้นโฆษณาทาง Mobile นั้น กว่า 94% มาจากภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (ประเทศไทยก็รวมอยู่ในนี้ด้วย) ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ

3. 3 สาเหตุหลักที่คนใช้ซอฟท์แวร์การปิดกั้นโฆษณานั้นได้แก่เหตุผลด้านความปลอดภัย, โฆษณามีความน่ารำคาญ และโฆษณาทำให้เว็บไซต์โหลดช้า

4. นอกจากนั้นแล้ว สถิติจาก WSJ ยังบอกอีกด้วยว่าในปี 2015 นั้น การปิดกั้นโฆษณา ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณานั้นสูญเสียโอกาสมากกว่า 22 ล้านเหรียญ (7 พันกว่าล้านบาท)

สถิติเหล่านี้กำลังบอกอะไร?

ในความเห็นของผมนะครับ สถิติเหล่านี้บอกพวกเราอยู่ 2 อย่างคือ

1. คนเบื่อหน่ายกับโฆษณา

ถ้าคุณใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ เช่นเล่น Facebook, Search Google หรือคุย LINE ในหนึ่งวัน ผมเชื่อว่าคุณจะได้รับโฆษณาทั้งทางตรง และทางอ้อมไม่น้อยกว่า 50 อันอย่างแน่นอน

แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหน มันก็ไม่มีทางทำให้คุณได้รับโฆษณาที่คุณสนใจจริงๆ อยู่ตลอด สาเหตุก็เป็นเพราะถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะวิเคราะห์พฤติกรรมของคุณ และพยายามยิงโฆษณาให้ตรงตามกับพฤติกรรมของคุณได้ แต่จิตใจของมนุษย์เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอย่างไรมันก็ยังคงอ่านใจคุณไม่ได้อยู่ดี ซึ่งเมื่อคุณเจอโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้อง (Irrelevant) มากๆ เข้า นานๆ วันเข้า คุณก็คงจะเบื่อ จริงไหมครับ?

2. แบรนด์เอาแต่พูดถึงเรื่องตัวเอง

แน่นอนว่าแบรนด์ต้องอยากขายของให้ได้ ซึ่งการที่จะขายของให้ได้นั้น แบรนด์ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการขาย การพูดถึงความดีถึงสินค้าของตัวเอง

ซึ่งข้อดีของโลกออนไลน์ก็คือแบรนด์สามารถส่งโฆษณาเข้าไปแทรกซึมได้อยู่ในทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Banner, Remarketing หรือการโฆษณาในหน้า Search

วิธีการแบบนี้อาจจะใช้ได้ผลได้ดีในอดีต เพราะในอดีตนั้นสิ่งที่คนขาดแคลนคือ “คอนเทนต์” แต่สิ่งที่คนมีเหลือเฟือคือ “เวลา” แต่ในปัจจุบัน การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้ทุกอย่างมันกลับกัน ทั่วท้องอินเทอร์เน็ตนั้นมี “คอนเทนต์” มากมายเต็มไปหมดที่จะมาคอยยื้อ คอยแย่ง คอยกระชากความสนใจ ไปจากคนแต่ละคน ซึ่งส่งผลให้ “เวลา” เป็นสิ่งขาดแคลน

* ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เป็นแบบนี้ แต่ถ้าคุณลองสังเกตดูดีๆ แบรนด์ส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น 🙂

เมื่อแบรนด์เอาแต่พูดเรื่องของตัวเอง และคนเบื่อหน่ายกับการต้องทนรับฟัง เทคโนโลยีการปิดกั้นโฆษณาก็เลยถือกำเนิดขึ้นมา

แนวทางการแก้ไขการปิดกั้นโฆษณา

ผมขอเริ่มจากวิธีการแก้ไขของ Publisher หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ (บริษัทที่ทำธุรกิจการขายคอนเทนต์ที่มีคุณค่า) ก่อนนะครับ

วิธีการของ Publisher ก็คือถ้าคุณมีการติดตั้งเทคโนโลยี Adblock ในเครื่องของคุณ เมื่อคุณเข้าไปยังเว็บไซต์เพื่อเสพคอนเทนต์ของพวกเขา เมื่อคุณอ่านไปได้สักพักก็จะมี Popup เด้งขึ้นมา ซึ่งโดยปกติแล้ว Publisher จะเสนอทางเลือกให้คุณ 2 วิธีคือ 1. ปิด Adblock 2. ยอมจ่ายสักเล็กน้อยเพื่ออ่านคอนเทนต์ต่อ

ตัวอย่างเช่น Business Insider ที่มี Popup เด้งขึ้นมาบอกให้ผมปิด Adblock

สำหรับ Publisher นั้นสามารถขอให้คนปิด Adblock ได้ เพราะว่าพวกเขาพยายามส่งคอนเทนต์ดีๆ ให้กับคน แต่สำหรับแบรนด์ที่ขายสินค้า หรือบริการอาจจะทำแบบนี้ไม่ได้

ถึงแม้ว่าแบรนด์อาจจะไม่ได้เจอปัญหานี้โดยตรง (แบรนด์ไม่ได้ขายโฆษณาบนเว็บไซต์ของตัวเอง) แต่แน่นอนว่าถ้ามองในภาพใหญ่ แบรนด์จะต้องเจอปัญหาในการที่กลุ่มลูกค้าของพวกเขานั้นไม่อยากจะรับสารเกี่ยวกับการขายจากแบรนด์จากช่องทางการโฆษณาต่างๆ ที่แบรนด์ใช้

เพราะฉะนั้นวิธีที่ผมอยากจะแนะนำคือเวลาทำการตลาดให้ “คิดแบบ Publisher”

Publisher จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามอบคอนเทนต์ที่มีคุณค่าให้กับคนเสพ แบรนด์เองก็สามารถทำแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่นถ้าบริษัทของคุณขายประกันชีวิต คุณก็ควรจะมอบคุณค่าผ่านการทำคอนเทนต์การสอนดูแลตัวเอง หรือสอนการเลือกซื้อประกัน หรือถ้าคุณขายยา คุณก็ควรจะมอบคุณค่าผ่านการทำคอนเทนต์สอนการดูแลสุขภาพ หรือสอนการใช้ยาให้ถูกต้อง เป็นต้น

สิ่งที่คุณควรจะคิดแบบ Publisher คือแค่เรื่องการส่งมอบคอนเทนต์ที่มีคุณค่าเท่านั้น แต่เรื่อง Strategy, Tactics ต่างๆ นั้นอาจจะต้องใช้วิธีที่ต่างไป เพราะตัวชี้วัดทางธุรกิจนั้นต่างกัน (ของ Publisher อาจจะเป็นยอด View ของคอนเทนต์ ส่วนของแบรนด์ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นยอดขาย)

สรุป

การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานซอฟท์แวร์ Adblock นั้นแสดงให้เห็นว่าคนพยายามหาวิธีการหลีกเลี่ยง หลีกหนีโฆษณามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณเน้นการสร้างคอนเทนต์เพื่อเน้นการขาย สารที่คุณต้องการจะสื่อออกไปนั้นก็จะถูกคนเมิน หรือถูกคัดออกด้วยเทคโนโลยี

กลับกัน ถ้าคุณนึกถึงความต้องการของลูกค้าของคุณเป็นอย่างแรกๆ พยายามสร้างคอนเทนต์เพื่อไปแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์ให้พวกเขา เทคโนโลยี Adblock จะไม่สามารถทำอะไรคุณได้ เพราะลูกค้าของคุณจะยินดีรับสารจากคุณ

Don’t interrupt what your buyers want to consume – BE what they want to consume – Mike Volpe

ขอให้คุณโชคดีในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีนี้นะครับ 🙂

ถ้ามีคำถาม ข้อสงสัย หรือมีคอมเมนต์เพิ่มเติม สามารถมาพูดคุยกับผมต่อได้ในคอมเมนต์ทางด้านล่างเลยครับ
New call-to-action

Author

Sitthinunt

Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast
Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast

Related Blog

Leave Your Comment