49
SHARE

ถอดรหัสสมัครงาน! 5 สาเหตุที่คุณไม่ถูกเชิญสัมภาษณ์งาน พร้อมวิธีแก้

ในช่วงที่ผ่านมาบริษัท Magnetolabs ของพวกเราอยู่ในช่วงขยับขยาย หาเพื่อนร่วมทีมมาช่วยตามล่าหาความฝัน ซึ่งก็เลยทำให้พวกเราได้รับ Resume มามากพอสมควรทั้งผ่านทางเว็บของบริษัท อีเมล หรือ Job Listing Service

และเนื่องจากว่าบริษัทของเรายังไม่ใหญ่ เพราะฉะนั้นโดยปกติแล้วคนที่เป็นคนนั่งอ่าน Resume ของคนสมัครก็เป็นเจ้าของอย่างผมนี่แหละ และด้วยความที่ว่าผมต้องทำอะไรหลายอย่าง ผมเลยต้องใช้วิธีการอ่านแบบข้ามๆ เอา ซึ่งกว่า 90% ของ Resume ทั้งหมดที่ผมได้รับมานั้น ผมใช้เวลาอ่านไม่กี่วินาที จากนั้น Resume เหล่านั้นก็จะถูกย้ายไปที่ช่อง Archive ในอีเมล หรือถ้าเป็น Job Listing ก็จะถูกย้ายไปที่ช่อง “คุณสมบัติไม่ตรง – Not Qualified”

ใน 90% ที่ว่านั้นมีหลายคนเลยที่ดูดี อาจจะมี Potential แต่สุดท้ายผมก็เลือกที่จะไม่เชิญพวกเขาเหล่านั้นมาสัมภาษณ์งาน

วันนี้ผมจะมาแชร์ 5 สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ Resume เหล่านั้นถูกเก็บไว้ในกรุ แทนที่จะเป็นลิสต์รายชื่อของ Qualified Candidate นะครับ ผมรับรองว่าถ้าคุณอ่านบทความนี้จบ คุณจะมีโอกาสถูกเรียกสัมภาษณ์งานมากยิ่งขึ้นแน่นอนครับ

ป.ล. ทุกอย่างในบทความนี้ไม่ได้เขียนถึงขึ้นมาว่าใครนะครับ อยากให้คิดซะว่าเป็นคำแนะนำจากพี่สู่น้อง น้องสู่พี่ เพื่อนสู่เพื่อน คนจ้างงานสู่คนหางาน แล้วกันนะครับ 🙂

ป.ป.ล. ชั่วโมงบินในการอ่าน Resume หรือการสัมภาษณ์งานของผมยังไม่ได้เยอะเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมเขียนในนี้อาจจะไม่ได้ถูก และใช้ได้จริงเสมอไป อยากให้อ่านแล้วเอาไปคิดต่อ หรือถ้ามีผู้เชี่ยวชาญท่านใดบังเอิญผ่านมา แล้วอยากแนะนำเพิ่มเติมอย่างไร สามารถมาพูดคุยกันได้ในคอมเมนต์นะครับ

5 สาเหตุที่คุณไม่ถูกเชิญสัมภาษณ์งาน

1. คุณไม่อ่านรายละเอียด

หลายๆ ครั้งที่ผมได้รับอีเมลที่มาพร้อมคำสวัสดี พร้อมกับ Resume หรือที่หนักกว่านั้นบางคนส่งอีเมลมาโดยที่ไม่มีคำทักทายอะไรเลย มีมาก็แต่ลิงก์ไฟล์ให้ไปดู Resume หรือ Portfolio

การสมัครงานแบบนี้เป็นการสมัครงานที่ผมใช้เวลาในการดูรายละเอียดน้อยที่สุด เพราะคนสมัครงานไม่ได้อ่านรายละเอียดที่บริษัทได้ให้ไว้เลย

ตัวอย่างเช่น Magnetolabs จะขอรายละเอียดประมาณ 6-7 อย่างตามด้านล่าง

โดยปกติแล้ว ถ้าคนที่อ่านรายละเอียดก่อนจะตอบมาครบทุกข้อ (ข้อไหนที่ไม่มี หรือให้ไม่ได้ ก็จะแจ้งมา)

สำหรับข้อนี้ หลักคิดง่ายๆ เลยก็คือ ถ้าเรื่องแค่นี้ยังไม่อ่าน แล้วในตอนทำงานด้วยกันจริงๆ ถ้ามีการมอบหมายงานให้ คนคนนี้จะสามารถส่งมอบงานตามที่รับมอบหมายได้รึเปล่า?

2. คุณหว่านไปทั่ว

ตามหลักสถิติ ยิ่งคุณส่ง Resume ออกไปเยอะ ยิ่งมีโอกาสถูกเชิญสัมภาษณ์มากขึ้นจริงไหมครับ?

ก็อาจจะจริง แต่ก็ไม่เสมอไป

เพราะการที่คุณเลือกที่จะหว่าน Resume ออกไปเป็นจำนวนมาก จะทำให้คุณไม่มีเวลาในการปรับแต่งข้อความ หรืออีเมลของคุณให้เหมาะสมกับบริษัทนั้นๆ

ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ถ้าผมได้อีเมลตามลักษณะที่อยู่ทางด้านล่างนี้

Dear HR Department,

I would like to apply for a job at your company. I believe that, with my skills and experiences, I will be a good fit for your company.

ผมก็จะพอดูออกเลยครับว่ามันเป็นเทมเพลต ซึ่งจะทำให้ผมไม่อยากเข้าไปดู Resume ต่อ

วิธีการที่ผมอยากจะแนะนำก็คือถ้าจะสมัครงานหลายๆ บริษัท อย่างน้อยปรับแต่งอีเมลนิดนึง เช่นจากตัวอย่างทางด้านบน คุณก็อาจจะเปลี่ยนเป็น

Dear HR Department,

I would like to apply for job the Digital Marketer Position at Your Company Magnetolabs. I believe that, with my SEO & Social Media Management skills and experiences, I will be a good fit for your company.

ปรับแค่นิดเดียว แต่อ่านแล้วดูน่าสนใจขึ้นเยอะเลย จริงไหมครับ?

3. คุณไม่โปร

ลองจินตนาการดูว่าถ้าคุณเป็นผู้จ้างงาน แล้ววันดีคืนดี คุณได้อีเมลจาก [email protected] ส่งมา ข้อความภายในอีเมลเขียนว่า

สวัสดีค่ะ

สมัครงานค่ะ

2 ประโยคสั้นๆ พร้อมแนบ Resume มา 1 ไฟล์

คุณอยากจะเข้าไปดู Resume ต่อไหมครับ?

แน่นอนว่าคำตอบก็คงจะเป็น “ไม่”

วิธีการง่ายๆ สำหรับการทำตัวให้ดูโปรก็คือใช้อีเมลให้มันดูโปร เลิกซะเถอะกับการใช้อีเมลแบบ [email protected] แล้วเปลี่ยนมาใช้อีเมลที่ดูเป็นทางการกว่านี้แทน เช่นถ้าคุณชื่อสมชาย รักดี คุณก็อาจจะตั้งชื่ออีเมลว่า [email protected] เป็นต้น

วิธีการเริ่มต้นการเขียนอีเมลก็สำคัญ การใช้คำต่างๆ เช่น Dear hiring manager, Dear HR department, To whom it may concern หรือเรียนฝ่ายทรัพยากรบุคคล ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นทางการไปนิด แต่ก็ดูโปร หรือถ้าอยากให้เป็นกันเองขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็น Dear [ชื่อบริษัท] เช่น Dear Magnetolabs Team

จำไว้ว่า The First Impression is the last impression ถ้าคุณอยากที่จะถูกเชิญสัมภาษณ์งาน คุณควรจะทำให้ “ครั้งแรก” ของคุณเป็นครั้งที่น่าจดจำ

4. คุณเขียน Resume ไม่เป็น

หนึ่งในสิ่งที่ผมเจอบ่อยที่สุด (และผมชอบน้อยที่สุด) เวลาอ่าน Resume ก็คือ “ค่าพลัง”

ผมเห็นหลายๆ คนจะชอบเขียนให้คะแนนค่า Leadership, Communication หรือ Language Skill มาเป็นตัวเลข หรือเป็นเปอร์เซนต์ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่วัดค่าได้ยาก (อาจจะยกเว้นบางอย่างที่มีผลสอบมารองรับเช่นพวก TOEFL หรือ IELTS) และหลายๆ ครั้งการใส่ค่าพลังเหล่านี้ลงไปอาจจะเป็นการทำร้ายตัวเอง

ตัวอย่างที่ผมเคยเจอมาก็คือการที่ผู้สมัครงานคนนึงนั้นเขียนให้ค่าพลัง English Language ของตัวเอง 5 เต็ม 5 แต่กลับเขียนคำขึ้นต้นประโยคเป็น I’m interesting in… (ที่ถูกคือ I’m interested in…)

หลังจากนั้นไม่ว่าเขาจะบอกว่าตัวเป็น Expert ด้านไหน หรือมีความเก่งเรื่องอะไร ผมก็ไม่ค่อยเชื่อแล้ว

คำแนะนำผมคือเปลี่ยนจากการเขียนเกี่ยวกับ “ค่าพลัง” มาเป็นการเขียนเกี่ยวกับ “สิ่งที่เคยทำได้ (Achievement)” น่าจะดูเข้าทีกว่า เช่นคุณอาจจะเขียนบอกว่าคุณเคยทำงานดูแล Social Media ให้กับเพจของบริษัท ABC แล้วทำให้ Engagement ของเพจเพิ่มขึ้น 50% และยอดขายเพิ่มขึ้น 20% เป็นต้น

หรือถ้าคุณอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียน Resume คุณสามารถอ่านได้จาก Huffington Post หรือ ASME ครับ ผมคิดว่าพวกเขาเขียนได้ค่อนข้างดีเลย

Note: อีกอย่างที่สำคัญ และเห็นคนทำพลาดอยู่หลายครั้งคือการส่ง Resume มาเป็นไฟล์รูปภาพแบบ JPG ซึ่งถ้าผมสนใจอยากติดต่อกลับ ผมจะต้องเข้าไปดูอีเมล หรือเบอร์โทรในไฟล์ JPG แล้วเอามาพิมพ์ใหม่อีกรอบ คำแนะนำผมคือให้ส่งไฟล์เป็น PDF จะดีที่สุดครับ เพราะจะได้ Copy อีเมล หรือคลิกที่เบอร์เพื่อโทรหาได้เลย

5. Profile คุณไม่น่าสนใจ

หลายๆ ครั้ง สิ่งที่ผมมักจะเจอใน Resume นั้นจะเป็นอะไรที่ค่อนข้างธรรมดา (Generic) เช่นการบอกว่าใช้ Microsoft Word ได้ สามารถพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษได้เร็วกว่า 50 คำต่อนาที หรือแม้แต่การจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำพร้อมเกรดอันสวยหรู (เกรดเยอะไม่ใช่เรื่องไม่ดีนะ แต่ถ้ามีแต่เกรดเยอะอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นเลย ก็อาจจะไม่ดีเท่าไหร่)

ส่วนตัวผมเอง ผมมักจะตื่นเต้นกับ Resume ที่มีอะไรที่เฉพาะเจาะจงมากกว่านี้ ผมขอยกตัวอย่างจากสายงานดิจิทัลแล้วกันนะ เพราะเป็นสายงานที่ผมมีประสบการณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับสายอื่น

เช่นถ้าคุณสมัครงานในตำแหน่ง Digital Marketer อย่างน้อยๆ ใน Resume ของคุณก็ควรมีคำว่า SEO, Social Media Marketing หรือ Email Marketing อยู่ด้วย ถ้ามีเว็บไซต์ หรือเพจเป็นของตัวเองก็จะยิ่งดี การบอกว่าคุณทำ “Digital Marketing” ได้ มันอาจจะกว้างเกินไป

หรือถ้าเป็น Designer มันคงไม่ใช่แค่บอกว่าใช้งาน Photoshop หรือ Illustrator เป็น การที่คุณมีโปรไฟล์ใน Behance หรือ Dribbble หรือลิงก์ไปยังผลงานที่เคยทำมาในอดีตก็จะทำให้คุณดูน่าสนใจขึ้นเป็นพิเศษ (จริงๆ แล้วการคัดกรอง Designer เพื่อเชิญมาสัมภาษณ์นั้นทำได้ค่อนข้างง่าย ถ้า Portfolio สวย Resume ทำมาดี มีการเขียนอธิบายเพิ่มเติมนิดหน่อยในอีเมล ก็มีโอกาสมากกว่าครึ่งแล้ว)

หรือถ้าเป็น Developer (Coder) นั้นคุณก็ควรจะต้องรู้ว่า Geek is Gold ยิ่งคุณโชว์ความหมกมุ่นในการเขียนโค้ดของคุณมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งดูน่าสนใจมากเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่คุณควรจะใส่ไว้ใน Resume ก็อาจจะเป็นลิงก์ไปยังเว็บไซต์/แอปพลิเคชันที่เคยพัฒนา หรือถ้าเคยเขียนแชร์โค้ดไว้ใน Github ก็จะยิ่งดี (อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ ฮา)

ผมอยากให้คุณลองเปิด Resume ของคุณขึ้นมาดู ถ้าคุณยังเจอแต่ “สิ่งที่ธรรมดา” อยู่ในนั้น มันก็อาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเรียนรู้เพิ่มเติม

ผมขอแนะนำอาจารย์ที่ดีที่สุดในยุคนี้ให้กับคุณ ซึ่งถ้าคุณคลิกเข้าไปดู ผมรับรองว่าคุณจะได้อาจารย์ขั้นเทพมาอยู่ในมือ ที่เหลือขึ้นอยู่กับว่าคุณจะขวนขวายหาประสบการณ์เรียนรู้จากอาจารย์ท่านนี้ได้มากแค่ไหนนะ 🙂

แถม

ไม่ว่าคุณจะเขียนอีเมลได้น่าจับใจ จะมี Profile ที่น่าจดจำ หรือจะทำ Resume ให้น่าจับจองมากแค่ไหน แต่ถ้าบริษัทที่คุณยื่นสมัครงานไป ไม่มีตำแหน่งว่าง หรือไม่ได้มีแผนรับคนเพิ่ม คุณก็คงไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์งานอยู่ดี

เพราะฉะนั้นก่อนจะยื่นสมัครงาน เช็คดูก่อนนะครับว่าบริษัทเหล่านั้น กำลังรับคนอยู่รึเปล่า

และถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ บางทีโชคชะตาอาจจะนำพาให้เรามาเจอกัน 🙂

เพราะเผอิญว่า Magnetolabs กำลังตามหาเพื่อนร่วมทีมอยู่ ถ้าคุณกำลังตามหางานในสายดิจิทัล เอเยนซี่ และสนใจในแนวคิดการทำธุรกิจแบบ Inbound – การทำธุรกิจแบบเน้นการสร้างคุณค่า คุณอาจจะลองเอาสิ่งที่คุณเรียนรู้มาในบทความนี้ มาทดลองใช้กับพวกเราได้

ไม่ว่าตอนนี้คุณกำลังหางานแบบไหนอยู่ ผมขอให้คุณได้งานที่ตรงกับใจนะ!

New call-to-action

Author

Sitthinunt

Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast
Managing Partner ของ Magnetolabs หลงใหลในเรื่อง Inbound Marketing หรือการตลาดแบบแรงดึงดูด เวลาว่างจากการเขียนคอนเทนต์ หรือตั้งค่า Marketing Funnel มักจะอ่านหนังสือ บน Kindle อันเล็กๆ หรือไม่ก็ฟังนักธุรกิจ/นักการตลาดคนโปรดคลุกเรื่องเล่าเคล้าเรื่องราวบน Podcast

Related Blog

Leave Your Comment