market-strategy
SHARE

Go to market strategy กลยุทธ์ก้าวทันลูกค้ายุค New Normal

ในยุคที่เกิด New Normal ใหม่มากมาย ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ตลาดใหม่เปิดตัว สินค้าใหม่เกิดขึ้น และตลาดเก่าปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมาก กลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับช่วงที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนผ่านตลาดเช่นนี้คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากกลยุทธ์ G2M หรือ Go to market strategy

กลยุทธ์ GTM ที่ดีจะทำให้เราระบุกลุ่มเป้าหมาย แผนการตลาด และโครงร่างกลยุทธ์การขายที่มีประสิทธิภาพได้ บทความนี้จะเล่าให้ฟังว่า Go to market strategy คืออะไร? ต้องใช้ในสถานการณ์ไหน? มีกระบวนการภาพรวมอย่างไร? แล้วเราจะเน้นส่วนไหนได้บ้างในช่วง New Normal แบบนี้

Go to market strategy คืออะไร

market-strategy

Go to market strategy คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้เมื่อธุรกิจต้องการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือพัฒนาสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจมากยิ่งขึ้น

กลยุทธ์ Go to market มีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติการทางการตลาดภาพรวมใหญ่ที่มีรายละเอียดย่อยลงลึกในหลายส่วนโดยระบุวิธีที่ธุรกิจจะเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายและหาข้อได้เปรียบในการแข่งขันของตลาด ในการจัดทำแผนกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดจะมีการนำข้อมูลหลายส่วนมาวิเคราะห์และจัดทำแผนการตลาดแต่ละส่วนอย่างละเอียด

นักการตลาดมักจะใช้ Go-to-market strategy เพื่อบริหารทรัพยากรภายในและภายนอกองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจโดยการผลิต/พัฒนา/ปรับปรุงแบรนด์ สินค้า และบริการให้ดีที่สุดเหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อส่งมอบให้สินค้าและบริการให้กับลูกค้าสร้างความรู้สึกประทับใจและเป็นที่จดจำจนเกิดการซื้อซ้ำเป็นประจำนั่นเอง

กลยุทธ์ Go to market strategy ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ Steve Jobs เจ้าของบริษัท Apple ผู้ประสบความสำเร็จใช้

สถานการณ์ไหนที่ต้อง Go to market ไปตลาดบ้าง?

market-strategy

ภาพสถานการณ์จำเป็นที่ต้องใช้แผน GTM (Go to market)

  • การเข้าสู่ตลาดใหม่: สถานการณ์ที่ธุรกิจขยับขยายสินค้าและบริการเดิมเข้าสู่ตลาดใหม่ เช่น ภูมิภาคใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ ตลาดความนิยมแบบใหม่ เป็นต้น (สินค้าเดิม หาตลาดใหม่)
  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่: สถานการณ์ที่ธุรกิจมีการผลิตสินค้าและบริการใหม่เข้ามาเพิ่มในตลาดเดิมที่มีอยู่ (สินค้าใหม่ ตลาดเดิม)
  • การเสนอความหลากหลาย: สถานการณ์ที่ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการใหม่เข้าสู่ตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน (สินค้าใหม่ ตลาดใหม่)

ใน 3 สถานการณ์ข้างต้น สถานการณ์สุดท้ายมีความเสี่ยงสูงสุดแต่ก็มีโอกาสทำกำไรสูงสุดเช่นกัน เนื่องจากการที่สินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดใหม่ทำให้ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีข้อมูล จึงมีความเสี่ยงสูงที่อาจจะเดินไม่ถูกทาง แต่ในทางกลับกันด้วยความแปลกใหม่อาจทำให้ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่ต้องทำในสถานการณ์ “สินค้าใหม่ ตลาดใหม่” คือต้องเรียนรู้ตลาดใหม่เพื่อเก็บข้อมูลและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครู้ว่า ธุรกิจของเราคืออะไรและสร้างคุณค่าอะไรแก่ผู้บริโภคนั่นเอง

รู้จักกลยุทธ์ Go to market

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจธุรกิจจำเป็นต้องหาวิธีทำการตลาดให้ได้ประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด กลยุทธ์ GTM จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญและสามารถพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้จริง

กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาดนั้นมีความจำเพาะเจาะจงและมุ่งเน้นการพัฒนาสำหรับตลาดหรือผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างจากแผนการตลาดทั่วไปที่มักเป็นแผนการตลาดกว้างๆ และไม่ลงลึกตอบโจทย์ในแต่ละส่วนมากเพียงพอ จึงทำให้อาจเกิดปัญหาตามมาบ่อยครั้ง

เริ่มด้วยการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การทำกลยุทธ์การตลาดแบบ Go to market

go to market strategy
go to market strategy

Go to market strategy มีกระบวนการและกลยุทธ์ย่อยในแต่ละส่วน ดังนี้

Research ค้นคว้าวิจัยข้อมูล

การจะเข้าสู่ตลาดใหม่ต้องมีการวิจัยส่วนต่างๆ ก่อนเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการลงทุนผลิตสินค้าและบริการของเราเข้าสู่ตลาด

  • การวิจัยตลาดใหม่: เพื่อตรวจเช็กความสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ ในกรณีที่เรามีสินค้าใหม่ในตลาดใหม่ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการทำแบบสำรวจความสนใจของลูกค้าหรือเก็บข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรม เป็นต้น
  • การวิจัยแนวโน้มตลาด: หากเรากำลังจะเข้าไปเป็นคู่แข่งอีกรายในตลาด กรณีสินค้าใหม่ในตลาดเดิมที่มีอยู่ เราต้องตรวจสอบขนาดของตลาด (Market Size) และส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) เพื่อประเมินว่าเราจะได้กำไรเพียงพอหรือไม่
  • การทดสอบตลาด: ผู้ทำธุรกิจควรทดสอบตลาดเพื่อที่เราจะได้รู้ล่วงหน้าว่าสินค้าและบริการของเรามีแววว่าจะรุ่งหรือร่วง เช่น ในการจัดคอนเสิร์ตของนักร้องใหม่ อาจจะมีการปล่อยคลิปเกี่ยวกับนักร้องสั้นๆ เพื่อดูผลตอบรับ รวมไปถึงการเปิดจองบัตรรอบพรีเซลล์ นั่นเอง
  • การรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย: ธุรกิจควรรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เพื่อจัดทำ Buyer Persona ไม่ต้องมีกลุ่มเป้าหมายเยอะ แต่รู้จักกลุ่มเป้าหมายให้ดี สอบถามและรวบรวมข้อมูลให้เยอะและลึกที่สุด เพราะข้อมูลที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ของเรา เช่น เหตุผลที่ลูกค้าจะสนใจธุรกิจของเราแทนที่จะเป็นของคู่แข่ง

“คำตอบที่ได้จะช่วยเพิ่มความชัดเจนให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้นว่าลูกค้าของเราคือใคร และเราควรเสนอคุณค่าอะไรให้กับลูกค้า”

Objective กำหนดวัตถุประสงค์

กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ขั้นตอนนี้อาจฟังดูคล้ายกับการกำหนดเป้าหมาย แต่วัตถุประสงค์จะทำให้เรามองวิธีไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการได้ นอกจากนี้ จะต้องกำหนด Metric ที่ใช้วัดความสำเร็จด้วย

กระบวนการนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าจะ “ใช้กลยุทธ์อะไร” เช่น กลยุทธ์เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ กลยุทธ์เพื่อทำการตลาดหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย กลยุทธ์เพื่อให้ลูกค้ายอมรับผลิตภัณฑ์และพึงพอใจ เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของแต่ละธุรกิจอาจแตกต่างกันไป และ Metric จะทำให้เรารู้ว่าจะ “ใช้อะไรวัคความสำเร็จ” เพื่อไปให้ถึงวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดไว้

Client Pain Point กำหนดปัญหาของลูกค้า

ก่อนจะเข้าสู่ตลาดอย่างสวยงามเราต้องกำหนดปัญหาให้ลูกค้าก่อน โดยเลือกปัญหาที่สินค้าและบริการของเราจะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด

  • การกำหนดความเจ็บปวด: ลูกค้ากำลังเจอกับปัญหาอะไร?
  • กำหนดความเร่งด่วนของความเจ็บปวด: ปัญหานั้นต้องแก้ไขด่วนหรือไม่?
  • กำหนดขนาดของความเจ็บปวด: ถ้าไม่แก้ไขจะเป็นปัญหาแค่ไหน?
  • กำหนดความเต็มใจในการแก้ไขความเจ็บปวด: ลูกค้าจะยอมจ่ายมากแค่ไหนเพื่อแก้ไขปัญหา?

Client Segment แบ่งกลุ่มของลูกค้าตามพฤติกรรม

จากการเก็บข้อมูลของลูกค้าในขั้นตอนการ Research และ Client Pain Point ให้นำข้อมูลเหล่านี้มาแบ่งกลุ่มลูกค้าเพื่อจะทำการตลาดแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม โดยเราสามารถพิจารณาได้จากข้อมูลประชากร ข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัย ข้อมูลพฤติกรรม ข้อมูลทางจิตวิทยา ข้อมูลปัจจัยที่ส่งผลต่อการซื้อ และข้อมูลพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค เป็นต้น

ตัวอย่างการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรม เราอาจจะแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากและกลุ่มที่มีความจำเป็นมากแต่มีกำลังซื้อน้อย ซึ่งส่งผลให้ตัวสินค้าของเราอาจจะออกมาในรูปแบบการแบ่งขายปลีกและการขายส่งเพื่อให้ได้ราคาที่ต่างกัน เป็นต้น

go to market strategy target Segment

Competitor Analysis วิเคราะห์คู่แข่ง

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจคือการวิเคราะห์คู่แข่งซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้จากทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดของคู่แข่ง เราสามารถศึกษาแผนการตลาดที่เขาใช้ ลักษณะสินค้าและบริการของคู่แข่ง การบริหารจัดการลูกค้าและบุคคลในองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณ เป็นต้น

เมื่อเราค้นคว้าสิ่งเหล่านี้มาเรียบร้อยแล้วก็สามารถเลือกสิ่งที่ดีของคู่แข่งมาพัฒนาให้ดีกว่าและดำเนินการตาม ส่วนสิ่งที่คู่แข่งทำแล้วล้มเหลวเราก็ไม่ทำตามหรือหาวิธีป้องกันปัญหาที่อาจเกิดนั่นเอง

Strategize วางกลยุทธ์

ขั้นตอนสำคัญอีกหนึ่งขั้นตอน คือ การวางแผนวางกลยุทธ์ที่จะใช้ โดยแต่ละธุรกิจก็อาจเลือกใช้กลยุทธ์แตกต่างกันไป กลยุทธ์หลักๆ ที่ต้องวางสำหรับการทำธุรกิจ คือ

  1. กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์: ผลิตสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
  2. กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย: มองหา “ราคาที่ใช่ในการเข้าสู่ตลาด” ที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายยินดีจ่าย เพื่อหาราคาเปิดตัวและอย่าลืมใช้โปรโมชันช่วยจูงใจ
  3. กลยุทธ์ช่องทางที่ใช้: ช่องทางที่ใช้ในการเข้าถึงลูกค้า ช่องในการพูดคุยติดต่อ และช่องทางในการวางขายสินค้าและผลิตภัณฑ์
  4. กลยุทธ์การตลาด: หาวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดใช้กลยุทธ์การตลาดที่สื่อสารคุณค่าของสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน หมั่นสร้างการรับรู้ (Awareness) และทำ CRM กับลูกค้าเสมอ
  5. กลยุทธ์ด้านประสบการณ์ของลูกค้า: มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าด้วยการวาง Customer Journey ให้ดีตั้งแต่เริ่มจนจบเพื่อมัดใจลูกค้าได้นั่นเอง

Test ทดสอบการใช้งาน

นำกลยุทธ์ที่ได้มาทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างและปรับปรุงผลลัพธ์ก่อนใช้จริง กระบวนการนี้จะทำให้เราแก้ไขปรับปรุงทันหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

Apply ทดลองใช้จริง

หลังจากที่วางแผนและทดลองมานาน ถึงเวลาแล้วที่จะลงสนามใช้กลยุทธ์เหล่านั้นจริงๆ ลุยเลย! ทำให้เต็มที่ ระหว่างทางอย่าลืมเก็บข้อมูลจากแผนการตลาดที่ใช้และเก็บข้อมูลจากลูกค้าเสมอ

Analysis & Optimize วิเคราะห์แผนกลยุทธ์ที่ใช้และปรับให้เหมาะสมอยู่เสมอ

โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้เราต้องปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจให้เท่าทันโลก นำข้อมูลที่ได้จากการใช้กลยุทธ์มาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องว่าสามารถปรับปรุงส่วนไหนให้ดีขึ้นได้บ้าง การทำ Go to market strategy นั้นไม่ได้ทำแล้วจบ แต่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เป็นวงจร

go to market strategy Marketing Funnel
Marketing cycle

 

เคล็ดลับดีๆ ในการเขียนแผนและสร้างกลยุทธ์ คือ Template สำหรับการวางแผน Magnetolabs เองอยากแนะนำแหล่งรวมเทมเพลตดีๆ (ที่สำคัญฟรี) สำหรับการวางแผนการตลาดจากเว็บไซต์ HubSpot ซึ่งจะเน้นแผน Go to market strategy ภาพใหญ่ และ MIRO ซึ่งจะมีเทมเพลตของแผนกลยุทธ์ย่อยๆ ให้ลองใช้งาน ซึ่งแต่ละธุรกิจก็จะมีรูปร่างหน้าตารายละเอียดย่อยและกลยุทธ์ที่ต่างกันไป โดยสามารถนำกลยุทธ์นี้ไปประยุกต์ใช้ตามให้เหมาะกับธุรกิจของคุณได้

จะทำกลยุทธ์ GTM ให้เท่าทันลูกค้าในยุค New Normal ต้องทำอะไรบ้าง?

กลยุทธ์ Go to market ในช่วง New Normal มีประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่

1. การวิจัยเบื้องต้น

ในช่วง New Normal ยิ่งเรามีข้อมูลสำหรับพัฒนาธุรกิจก่อนเริ่มมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เรามีโอกาสเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในยุคนี้ข้อมูลคือสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากต่อการทำธุรกิจ

ข้อดีในยุค New Normal ที่ธุรกิจออนไลน์กำลังเติบโต คือ การเก็บข้อมูลเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น เพราะทุกคนกำลังอยู่บนโลกออนไลน์ มีเครื่องมือดีๆ มากมายที่ช่วยให้เราได้ข้อมูลของลูกค้ามาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น แบบสอบถามออนไลน์ โซเชียลมีเดีย สถิติในการเข้าชมเว็บไซต์ และข้อมูลที่ลูกค้าให้ นอกจากนี้ ก็ยังมีข้อมูลที่สามารถซื้อขายได้อย่างถูกกฎหมายบนเว็บไซต์ที่ให้บริการชุดข้อมูลสถิติ เว็บไซต์ให้บริการข้อมูลเชิงลึกสำหรับธุรกิจ เป็นต้น

ตัวอย่างบริษัทที่นำข้อมูลในการทำธุรกิจมาใช้ประโยชน์ เช่น Facebook, Google และ Harvard Business Review จะเห็นได้ว่าบริษัทเหล่านี้มีรายได้สูงหลายล้านบาทต่อปีจากการนำข้อมูล User มาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจ

2. การศึกษาลูกค้า

เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” หรือไม่? คำกล่าวของผู้เขียนตำราพิชัยสงครามซุนจื๊อ (Xun Kuang) ยังใช้ได้ในปัจจุบันนี้ การรู้จักลูกค้าจะช่วยให้ดำเนินแนวทางในการทำธุรกิจได้อย่างมีทิศทาง ในช่วงของการวิจัยข้อมูลลูกค้า การกำหนดปัญหาของลูกค้า และการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามพฤติกรรมเราจึงต้องเจาะลึกข้อมูลในส่วนนี้ ตั้งคำถาม 6W1H เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Go to market strategy o2o

3.ปรับกลยุทธ์การตลาดในแต่ละด้าน

ปรับตัวจาก Offline to Online

ยุคนี้ใครๆ ก็อยู่บนโลกออนไลน์กันทั้งนั้น การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด สถานการณ์วิกฤตผลักดันให้ทุกผู้บริโภคมาอยู่บนโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น หลายธุรกิจที่ไม่คาดคิดว่าจะอยู่บนโลกออนไลน์ได้ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

การปรับตัวไปทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ไม่ใช่เพียงแค่สร้างโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดีย แต่ธุรกิจต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของกลยุทธ์การขาย การทำการตลาด ระบบการขาย ระบบสต๊อกสินค้า และฝ่ายที่รับผิดชอบ

หลายธุรกิจพลาดเป้าตกม้าตายในการนำธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เพราะไม่มีแผนการตลาด ขาดความสม่ำเสมอในการขายออนไลน์ ศึกษาการตลาดไม่ดี เสียเงินไปกับการโฆษณาจำนวนมากแต่ไม่สร้างยอดขาย ปัญหาขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลช่องทางออนไลน์ ระบบสต๊อกสินค้าไม่สอดคล้องกับคลังสินค้า เป็นต้น ดังนั้น การปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ของธุรกิจจึงต้องศึกษาให้ละเอียด วางแผนให้ดี รวมถึงมีคนและระบบที่พร้อมนั่นเอง

Customer Service อาจไม่ทันใจต้องให้ Self-service เข้าช่วย

“ลูกค้าชอบที่จะค้นหาคำตอบด้วยตัวเองเพื่อตอบโจทย์การบริการตัวเองมากกว่า (Forrester)”

“85% ของการบริการลูกค้ากลายเป็นบริการแบบอัตโนมัติในปี 2020 ที่ผ่านมา (Ameyo)”

“ลูกค้ากว่า 60% ในสหรัฐอเมริกาชอบบริการอัตโนมัติเพื่อบริการตัวเองมากกว่า เพราะง่าย สะดวก และรวดเร็วกว่าการรอรับบริการจากพนักงาน (AE)”

ในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ที่ผ่านมา มีตัวเลขสถิติที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ คือ การใช้ Self-service เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าคนชอบที่จะบริการตัวเองมากกว่าการโทรติดต่อไปยังคอลเซนเตอร์เพื่อรอให้พนักงานบริการลูกค้าติดต่อกลับ สอบถามข้อมูล ยืนยันตัวตนเพื่อแก้ปัญหา โดยอาจมีขั้นตอนเยอะและใช้เวลาค่อนข้างนาน ลูกค้าจึงมักตัดสินใจใช้ระบบ Automation บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันบริการตัวเองแทน เห็นได้จากเทรนด์การใช้ Internet Banking ในการทำรายการต่างๆ

Go to market strategy self Serve
ให้ลูกค้าสามารถบริการตัวเองได้ทันใจ

ธุรกิจสามารถเพิ่มช่องทางบริการตัวเองให้แก่ลูกค้าด้วยการใช้ Chatbot, LINE@, การกรอกข้อมูลเพื่อดำเนินการบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน รวมไปถึงผลิตคลังความรู้เกี่ยวกับธุรกิจโดยการทำบทความ SEO สำหรับลูกค้า เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการด้าน Self-service แก่ลูกค้า

Self-service นอกจากจะช่วยผลักดันให้เกิดการตลาดอัตโนมัติ แล้ว ยังตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าและลดงานที่ไม่จำเป็นให้กับทีมงานอีกด้วย ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจในยุค New Normal ไม่ควรพลาด

กลยุทธ์การตลาด

เลือกกลยุทธ์การตลาดออนไลน์และออฟไลน์ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณ ปัจจุบัน การตลาดมุ่งเน้นอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นส่วนมาก ธุรกิจจึงต้องปรับตัวทำ Digital Marketing บางธุรกิจอาจจะเหมาะกับการตลาดแบบ Outbound Marketing แต่บางธุรกิจอาจประสบความสำเร็จกว่าถ้าใช้การตลาดแบบ Inbound Marketing

4. เลือกใช้ Tools ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจ

หลายธุรกิจในยุคปัจจุบันอาจมาในรูปแบบของ Start-up, SME, Small Business ไปจนถึงธุรกิจใหญ่ ซึ่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการทำธุรกิจขนาดเล็ก คือ ปริมาณคนที่ไม่เพียงพอ ส่วนปัญหาสำหรับธุรกิจใหญ่อาจเป็นระบบการทำงานที่ซ้ำซ้อน ดังนั้น จึงควรเลือกเครื่องมือเข้ามาช่วยจัดการปัญหาเหล่านี้เพื่อให้การทำธุรกิจมีประสิทธิภาพขึ้น

ในปัจจุบัน มีเครื่องมือมากมายที่สามารถเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจและจัดการระบบในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ตัวอย่างระบบช่วยบริหารธุรกิจที่ Magnetolabs ใช้และอยากแนะนำก็คือ HubSpot ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรองรับกลยุทธ์การตลาดได้หลากหลายรูปแบบเลยทีเดียว

Go to market strategy

สรุป

ในยุคที่ตลาดใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เหตุผลที่กลยุทธ์การตลาดแบบ Go to market เหมาะกับการนำมาใช้ในช่วงนี้เพราะเป็นกลยุทธ์ที่พาเราคิดอย่างละเอียดรอบด้านในการทำธุรกิจ ถือเป็นแผนที่ช่วยให้เราทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยตั้งคำถาม หาคำตอบ ทดลองใช้ พัฒนาให้ดีขึ้น ช่วยให้เราบริหารทรัพยากรในองค์กรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณค่าตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากนี้ ส่วนที่เราต้องให้ความสำคัญเพื่อทำการตลาดให้เท่าทันยุค New Normal ก็คือการมุ่งเน้นไปที่การ Research, Client Analysis และ Strategize ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

Go to market strategy จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้อย่างสวยงามและขยายตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้น

ถ้าอย่างนั้นเราไปตลาดพร้อมกันเลยดีไหม?


 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก

The Proven Process for Developing a Go to market
https://blog.hubspot.com/sales/gtm-strategy

100 Essential Customer Service Statistics and Trends for 2021
https://www.nextiva.com/blog/customer-service-statistics.html

Go to market Template
https://miro.com/templates/go-to-market-strategy/

คู่มือขั้นสูงสุดสำหรับแผน Go to Market
https://ichi.pro/th/khumux-khan-sungsud-sahrab-phaen-go-to-market-173558504929772

 

Author

Thitirath

ผู้กำลังตกหลุมรักงานเขียน จาก Social Marketing ผันตัวมาเป็น Content Writer
ผู้กำลังตกหลุมรักงานเขียน จาก Social Marketing ผันตัวมาเป็น Content Writer

Related Blog

Leave Your Comment