SEO ปี 2021 จะพัฒนาไปด้านไหน เป็นอีกหนึ่งคำถามฮิตที่มักได้เห็นอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะช่วงหลังที่ Google มีการปรับ Algorithm และเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการค้นหามากมาย ในบทความนี้เราจึงจะพาไปดูทิศทางที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับ SEO ในปีหน้ากันครับ
ถ้าคุณไม่คุ้นกับคำว่า SEO ล่ะก็ ผมขอแนะนำบทความ SEO คืออะไร เพื่อให้เข้าใจหัวข้อที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปได้ง่ายขึ้นครับ
หากคุณพร้อมแล้ว ไปลุยกันเลย
อัปเดต SEO Trends 2021
1. High Quality Content ยังเป็นราชาตลอดกาล
“Content is King” ยังคงเป็นวลีอมตะสำหรับการนำเสนอสิ่งต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตแม้ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม ต่อให้มีเทคนิคการปรับปรุงคอนเทนต์มากแค่ไหน สุดท้ายแล้วเนื้อหาคอนเทนต์ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอ สิ่งที่ตามมาในหัวข้อนี้คือ ‘คอนเทนต์แบบไหนล่ะที่คนเลือกดู’
คำตอบสั้นๆ คือ ‘High Quality Content’ ครับ ว่ากันง่ายๆ คือคอนเทนต์คุณภาพสูงนั่นเอง
ขนาดต้องพอเหมาะ ประโยชน์ต้องมี รวมถึงต้องเข้าถึงง่ายและตรงตามหลัก SEO นี่คือเรื่องพื้นฐานที่แทบทุกคนเข้าใจ แต่ถ้าหากทำ SEO ระยะยาวแล้วล่ะก็ต้องอาศัยปัจจัยที่มากกว่านั้นครับ
การทำคอนเทนต์ทุกคอนเทนต์ต้องมีการ Research Keywords วางแผนการนำเสนอว่าคอนเทนต์ไหนจะนำเสนอความรู้ คอนเทนต์ไหนจะนำเสนอการขายของ ยิ่งเวลาผ่านไปคนอ่านก็จะยิ่งเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะกับตัวเองได้ ยิ่งตอบโจทย์คนอ่านมากเท่าไหร่ (แน่นอนครับ ต้องขายได้) ยิ่งนับเป็น High Quality Content มากเท่านั้น
ดังนั้นก่อนทำคอนเทนต์นอกจากเขียนดีแล้วต้องมี Content Strategy ที่ดีด้วยครับ เพื่อทำให้คอนเทนต์ของเรามีคุณภาพสูงสุดในสายตากลุ่มผู้อ่านนั่นเอง
2. AI เปลี่ยนโลกการใช้ Search Engine ในระยะยาว
‘เปลี่ยนโลก’ นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ AI นั้นส่งผลมากจริงๆ ทั้งในฝั่งของผู้ให้บริการ Search Engine และฝั่งคนทำ SEO แค่เราอาจไม่ได้สังเกตกันหากไม่ได้มีการตามเทรนด์บ่อย ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ครับ
ด้านผู้ให้บริการ Search Engine อันดับหนึ่งของโลก อย่าง Google ได้มีการใช้ AI เข้ามาช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพการค้นหาเป็นเวลานานแล้ว และ ล่าสุดได้มีการเปิดตัวอัลกอริทึม Bidirectional Encoder Representations from Transformer (BERT) ที่พัฒนาบนพื้นฐาน AI Neural Network
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Google Search จะเข้าใจภาษามนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการนำเสนอผลหน้า SERP ที่เฉพาะเจาะจง ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และเน้น Long-Tail Keyword มากขึ้นด้วย ถือเป็นการอัปเดตที่ท้าทายทีเดียวสำหรับคนทำคอนเทนต์ SEO
ทำไม ? เพราะคอนเทนต์ที่เคยขึ้นหน้าแรกๆ ด้วย Short Tail จะโดนเบียดตกอันดับไปครับ จนปีหน้าอาจเรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการ Optimize เลยทีเดียว
Tips: ถ้าหากคุณหวังจะขึ้นหน้าแรกหรือ Position Zero (หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Feature Snippet) การใส่เนื้อหาที่มีการ ‘ตอบคำถาม’ ในคอนเทนต์ลงไปแบบชัดเจน ไม่ต้องเวิ่นเว้อ จะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ครับ เพราะอัลกอริทึมของ Google ชอบดึงคำตอบตรงไปตรงมาอย่างนี้มาขึ้นตลอด
ด้านคนทำ SEO Google มีการอัปเกรดระบบ ฝั่งนักการตลาดอย่างเราก็ได้เครื่องมือเพิ่มจากการใช้เทคโนโลยี AI เช่นกัน
ที่ใกล้ตัวที่สุดเลยคือการประยุกต์ใช้ AI เพื่อคำนวณหัวข้อจาก Keyword ต่างๆ ว่าลูกค้าสนใจอ่านหัวข้อคอนเทนต์แบบไหน รวมถึงใช้ในการช่วยสร้าง Landing Page ที่สามารถจูงใจคนเสพคอนเทนต์ให้ ‘คลิก’ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยในการวิเคราะห์มากนัก
3. คอนเทนต์ที่ทำตามหลักการ EAT Principle จะมีโอกาสสำเร็จมากกว่า
Expertise, Authoritativeness และ Trustworthiness คือปัจจัยที่ทำให้ Google มองว่าคอนเทนต์ของเรานั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน ซึ่ง Google เองก็มีแนะนำไว้ใน Google Core Updates เดือนสิงหาคม 2019 ด้วยครับ และหลักการนี้น่าจะส่งผลไปอีกพักใหญ่ทีเดียว
Expertise: ความเชี่ยวชาญ สิ่งที่เขียนต้องมีประโยชน์ มีความ ‘ลึก’ ในงานเขียน แสดงให้เห็นถึงความรู้ที่ได้ทำการค้นคว้ามา
Authoritativeness: มีอิทธิพล ถูกอ้างอิงถึงจากสื่อหรือเว็บไซต์ใหญ่ๆ การที่อีกฝ่ายมี backlink มาหาเราทำให้เปอร์เซนต์ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากทีเดียว
Trustworthiness: ความน่าเชื่อถือ งานเขียนมีแหล่งอ้างอิงไปยังเว็บของทางการ หรือเว็บที่น่าเชื่อถือ และข้อมูลตรงกับความเป็นจริง
Tips: ปัจจุบัน Google ลงลึกถึงตัวตนของ Author หรือผู้เขียนเพื่ออ้างอิงความน่าเชื่อถือเลยนะครับ
4. ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่กับกระแส Mobile Search
อัตราการใช้อุปกรณ์ประเภทมือถือนั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจครับ ถ้าอ้างอิงตามสถิติที่ตรวจสอบได้ ไทยเรามีประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 50.18 ล้านคน ด้วยซ้ำ (แน่นอนว่าน่าจะมีเบอร์ซ้ำบ้างประปราย แต่ตัวเลขนี้ก็สูงอยู่ดี)
นั่นแสดงให้เห็นว่าการปรับหน้าเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับสมาร์ทโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้อีกต่อไป และยังส่งผลโดยตรงกับ SEO อีกด้วย เพราะ Google เองก็คำนึงถึงปัจจัยนี้เช่นกัน
ดังนั้น 2021 จะเป็นยุคของ Mobile Search แน่นอนครับ
5. การใช้ “เสียง” กับการค้นหา จะแยกจากกันไม่ได้อีกต่อไป
27% ของคนบนโลกใช้ Voice Search ผ่านอุปกรณ์มือถือในการค้นหา และการใช้งานเสียงก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจาก Siri และ Google Assistant รวมถึงอุปกรณ์ติดบ้านอย่าง Alexa
เรื่องท้าทายที่ตามมาคือการค้นหาด้วยเสียงนั้นมีความแตกต่างกับการพิมพ์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนอาจจะ Search ในวลีที่ยาวกกว่าการพิมพ์ (เพราะพูดสะดวกกว่า) มีการใช้ภาษาพูดมากขึ้น รวมถึงประโยคที่เกี่ยวกับการค้นหาจะมีความ long-tail มากขึ้น
ความท้าทายของเรื่องนี้จึงตกอยู่ที่การปรับคอนเทนต์ให้เข้าตรงกับ Keyword โดยมีการวาง Keyword ที่ครอบคลุม รองรับทั้งคนพิมพ์และคนพูด เพื่อให้การค้นหาด้วย ‘เสียง’ สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายพอๆ กับพิมพ์ และเรามั่นใจว่าในอนาคตเราอาจได้เห็นเครื่องมือใหม่ๆ ที่ใช้ทำ SEO เกี่ยวกับการค้นหาด้วยเสียงโดยเฉพาะอย่างแน่นอน
6. ประสบการณ์ (User Experiences) จำเป็นอย่างยิ่งกับการ search ในอนาคต
เรื่องนี้จะคล้ายกับวลีอมตะแบบ Content is King ครับ การทำ Page Experiences หรือประสบการณ์ที่ได้จากเพจให้ดีนั้น ส่งผลโดยตรงกับการค้นหา โดย Google เองก็ได้ระบุไว้ใน Developer Guide ครับว่า Page Experiences มีผลกระทบต่อเว็บจริงๆ และได้มีการระบุ ‘สัญญาณ’ เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ได้รับจากเพจไว้ดังนี้
Core Web Vitals: การเช็กประสิทธิภาพเว็บไซต์ ตรงๆ คือเว็บมีการเข้าใช้งานที่ง่าย ไว การแสดงผลควรเกิดขึ้นใน 2.5 วินาทีแรกหลังจากคนเข้ามาในเว็บ ซึ่งทาง Google เองก็มีการแนะนำ Tools ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ใน ลิงก์นี้ ครับ
ถ้าสงสัยว่าการแสดงผลของเว็บเร็วนั้นดีอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ทำไมต้องทำเว็บไซต์ให้เร็ว ครับผม
Mobile-friendly: การทำเว็บที่มี UX/UI ที่มีการแสดงผลเหมาะกับผู้ใช้ Device ประเภทมือถือและแท็บเล็ตครับ ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจส่วนนี้ล่ะก็มีโอกาสที่หน้าเว็บจะเพี้ยน เล็ก หรือใหญ่เกินไปเวลาเปิดบนมือถือได้
Safe-browsing: ปราศจากไวรัสและมัลแวร์ รวมไปถึงข้อความหลอกลวงต่างๆ
HTTPS: มีการแสดงผลผ่าน HTTPS ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นมาตรฐานของ Google ไปแล้ว
No Intrusive Interstitials: พูดง่ายๆ คือไม่มีการแสดงโฆษณาคั่นใหญ่ๆ ก่อนเข้าถึงหน้าเว็บไซต์นั่นเองครับ
ซึ่งตัวผมคาดว่า Google จะใช้มาตรฐานดังกล่าวยาวจนถึงปี 2021 เลยครับผม (ใช่ครับ Developer ของ Google ระบุไว้ในหน้าไกด์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการจัดอันดับตาม Page Experiences ช่วงพฤษภาคม 2021)
7. ผู้ใช้จะเข้าถึงเป้าหมายที่ใกล้ตัวขึ้นด้วย Local Search
Local Search หรือการค้นหาแบบเจาะจงพื้นที่ เป็นรูปแบบการค้นหาที่ผู้คนมักทำกันเมื่อหาสินค้าและบริการใกล้กับตัวเองเป็นหลัก ซึ่งทาง Google เองก็จะดึงข้อมูลร้านค้า หรือบริการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ เข้าไปยังหน้า SERP
แล้วเราจะสามารถทำ Local SEO ได้ด้วยไหม ? ขอบอกเลยว่าได้ครับ โดยเบื้องต้นสามารถทำด้วยการใช้บริการของ Google อย่าง Google Business ในการสร้างที่อยู่ของสินค้าและบริการของคุณให้ทาง Google รับทราบ สร้างเว็บไซต์และระบุที่ตั้งธุรกิจของตัวเอง รวมถึงทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นบ้าง เพียงเท่านี้คุณก็สามารถก้าวเข้าสู่โลกของ Local Search ได้แล้วครับ
สรุป
จากสรุปเทรนด์ด้านบนจะเห็นได้ชัดเลยนะครับว่าตัวแปรสำคัญในยุคต่อไปคือการใช้งานผ่านมือถือได้ง่าย มีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ รวมถึงการปรับตัวเว็บไซต์เข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Voice Search
แน่นอนครับว่าปี 2021 ยังมีอะไรเกี่ยวกับ SEO รอเราอยู่อีกเพียบ ถ้าคุณมีเรื่องไหนที่ทำไปแล้ว หรือเจอปัญหาจากการทำ SEO สามารถคอมเมนต์บอกพวกเรา และหากคุณอยากรู้เกี่ยวกับ SEO และ Content Marketing มากขึ้น สามารถ Subscribe พวกเรา Magnetolabs ได้ที่ด้านล่างหน้าบล็อก Magnetolabs เลยนะครับผม